ประกาศผลการคัดเลือกรางวัลอนุรักษ์ศิลปสถาปัตยกรรม ประจำปี 2567

ประเภท ก. งานอนุรักษ์มรดกทางสถาปัตยกรรมและชุมชน

 ระดับดีมาก

ตำหนักทอง วัดไทร กรุงเทพฯ

ตำหนักทองวัดไทร ถือเป็นอาคารไม้อันทรงคุณค่าทั้งด้านประวัติศาสตร์ ศิลปสถาปัตยกรรรม และตำแหน่งที่ตั้ง การอนุรักษ์ในครั้งนี้มีกระบวนการดำเนินงานเป็นขั้นตอนอย่างครบถ้วน มีการศึกษาโครงสร้าง องค์ประกอบของอาคาร การขุดค้นทางโบราณคดี ตลอดจนมีการประเมินสภาพอาคาร มีการจัดทำแบบ กำหนดวิธีการแก้ปัญหาความเสื่อมสภาพของอาคาร โดยให้ทำการถอดรื้อชิ้นส่วนต่างๆทั้งหมด เก็บข้อมูล
ขององค์ประกอบแต่ละชิ้นโดยละเอียด แล้วซ่อมแซมและนำกลับมาประกอบกันอีกครั้งตามเทคนิคงานไม้ดั้งเดิม หลังจากที่ได้เสริมความมั่นคงแข็งแรง ซึ่งข้อมูลที่ได้ระหว่างการดำเนินการอนุรักษ์ยังทำให้พบคำตอบของข้อสงสัยเกี่ยวกับประวัติความเป็นมาของอาคารอีกด้วย นอกจากนี้ยังมีการอนุรักษ์งานศิลปกรรมที่ยังคงอยู่ และมีการต่อเติมชายคาเพื่อช่วยปกป้องงานศิลปกรรมสำคัญนั้น โดยเลือกใช้วัสดุที่แตกต่างออกไปจาก
ส่วนดั้งเดิม มีผลให้ยังสามารถรักษาความแท้ และคุณค่าของอาคารไว้ได้อย่างครบถ้วน นับเป็นแบบอย่างให้กับการอนุรักษ์อาคารไม้ที่มีความสำคัญในทุก ๆ ด้านได้เป็นอย่างดี

ศูนย์เรียนรู้โรงไฟฟ้าขนอม จังหวัดนครศรีธรรมราช

โรงไฟฟ้าขนอม เป็นงานสถาปัตยกรรมในยุคอุตสาหกรรมด้านการผลิตไฟฟ้าที่หาได้ยากยิ่งในประเทศไทย เป็นอาคารที่มีคุณค่าความสำคัญทั้งทางประวัติศาสตร์และทางวิชาการ ที่ยังคงมีความแท้ในเรื่องของรูปทรง องค์ประกอบทางสถาปัตยกรรมและวิศวกรรม จึงมีศักยภาพอย่างสูงที่จะได้เป็นแหล่งเรียนรู้ที่สำคัญ การอนุรักษ์เพื่อนำมาใช้เป็นศูนย์เรียนรู้ในครั้งนี้แสดงออกให้เห็นถึงความตั้งใจ ความตระหนักในคุณค่า
และความสำคัญของอาคาร มีกระบวนการในการออกแบบอย่างครบถ้วนและเลือกเทคนิควิธีการอนุรักษ์
ที่เหมาะสม การแสดงจัดภายในอาคาร ยังสามารถรักษาความแท้ไว้เพื่อสื่อความหมายได้อย่างน่าสนใจ มีการปรับเปลี่ยนพื้นที่ภายในได้อย่างสร้างสรรค์ รวมทั้งมีแผนบริหารจัดการโครงการอย่างชัดเจน เป็นการอนุรักษ์
ที่ส่งผลดีต่อสังคมชุมชนโดยรอบ และเป็นแหล่งเรียนรู้สำหรับเยาวชนและประชาชนต่อไป

 

ระดับดี

บ้านตรอกถั่วงอก กรุงเทพฯ

การอนุรักษ์บ้านตรอกถั่วงอก แสดงให้เห็นถึงความตั้งใจของคนรุ่นใหม่ในการที่ฟื้นฟูอาคารประวัติศาสตร์ของครอบครัวให้สามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้ต่อไป จากเรือนพักอาศัยของบรรพบุรุษ
ที่ขณะเดียวกันก็ยังเป็นส่วนหนึ่งในการบอกเล่าประวัติศาสตร์ของย่านเก่านี้ด้วย ในการอนุรักษ์ที่เลือกรักษารูปแบบองค์ประกอบภายนอกอาคารไว้ตามเดิมจึงถือว่าทำได้ดี ในขณะที่พื้นที่ภายในได้นำองค์ประกอบ
ทางสถาปัตยกรรมดั้งเดิมมาประยุกต์กับการออกแบบเพื่อรองรับกิจกรรมใหม่ ซึ่งมีการแก้ปัญหาด้วยการปรับเปลี่ยนวัสดุได้อย่างน่าสนใจ นอกจากจะเป็นการรักษาอาคารและความหมายของการเป็นศูนย์รวมจิตใจของครอบครัวแล้ว การอนุรักษ์นี้ยังได้ส่งผลดีต่อสังคมและชุมชนโดยรอบในฐานะตัวอย่างของการอนุรักษ์
และประยุกต์การใช้สอยของอาคารพักอาศัยในพื้นที่เมืองเก่าได้อย่างสร้างสรรค์อีกด้วย

 

 

บ้านจิราธิวัฒน์ ณ ศาลาแดง กรุงเทพฯ

การอนุรักษ์บ้านจิราธิวัฒน์ แสดงให้เห็นถึงความตั้งใจที่จะรักษาเรือนพักอาศัยดั้งเดิมของตระกูล
จิราธิวัฒน์ไว้เพื่อเป็นศูนย์รวมจิตใจและเป็นหลักฐานทางประวัติศาสตร์ของครอบครัว โดยในกระบวนการอนุรักษ์ มีการศึกษาข้อมูล การประเมินความเสื่อมสภาพ และการเลือกวิธีการอนุรักษ์ ที่ยังคงรักษาวัสดุ
และองค์ประกอบดั้งเดิมไว้ได้อย่างดี ทำให้ยังคงรักษาลักษณะดั้งเดิมของภายนอกอาคารไว้ได้ การเลือกใช้วัสดุทดแทนและการสร้างส่วนต่อเติมเพื่อการใช้สอยในปัจจุบันก็เป็นไปในลักษณะที่คำนึงถึงคุณค่าของงานสถาปัตยกรรมภายนอกได้เป็นอย่างดี การปรับปรุงภายในอาคารแม้จะยังไม่ทำให้เห็นได้ว่าช่วยส่งเสริมคุณค่าของอาคารมากนักแต่ก็ช่วยตอบสนองความต้องการของการใช้สอยได้เป็นอย่างดี ทำให้เกิดทัศนคติที่ดีในการเก็บรักษาอาคารที่มีคุณค่าไว้ การอนุรักษ์ในครั้งนี้จึงนับเป็นหมุดหมายที่สำคัญที่จะส่งผลถึงการดำรงอยู่
ของอาคารที่ทรงคุณค่าเช่นเดียวกันนี้ต่อไป

เรือนยอง 105 ปี จังหวัดเชียงใหม่

เรือนยอง 105 ปี หลังนี้เป็นผลของการปรับสภาพของอาคารเก่าที่มีคุณค่าของครอบครัวให้กลับมา
มีชีวิตชีวาอีกครั้ง โดยแสดงถึงความตั้งใจและความพยายามที่จะรักษางานสถาปัตยกรรมพื้นถิ่นชาวยอง
ที่หลงเหลืออยู่น้อยในปัจจุบันเอาไว้ได้อย่างดี โดยในการย้ายอาคารจากที่ตั้งเดิมมาสู่ที่ตั้งในปัจจุบันนั้น มีการเลือกเทคนิควิธีการอนุรักษ์ที่สามารถรักษาองค์ประกอบสำคัญ และวัสดุแบบดั้งเดิมของอาคารไว้ได้ดี
มีกระบวนการดำเนินงาน การจัดทำแบบ และการรักษาองค์ประกอบด้วยการซ่อมแซมด้วยเทคนิคช่างฝีมือแบบดั้งเดิมโดยช่างไม้ในท้องถิ่น  มีการออกแบบปรับเปลี่ยนการใช้งานใหม่ในการเป็นเรือนพักอาศัย
ของครอบครัวในปัจจุบันได้อย่างเหมาะสม เห็นความแตกต่างระหว่างของเก่าและโครงสร้างใหม่ที่เสริมเข้ามาในภาพรวมที่มีความกลมกลืน การอนุรักษ์เรือนยอง 105 ปีนี้จึงแสดงให้เห็นตัวอย่างที่ดีของการรักษางานสถาปัตยกรรมพื้นถิ่นที่หาได้ยากให้ยังคงอยู่ต่อไป

รักอันคอฟฟี่ จังหวัดขอนแก่น

รักอันคอฟฟี่ เป็นการนำอาคารเก่าซึ่งตัวแทนของเรือนแถวไม้ดั้งเดิมของเมืองเก่าขอนแก่นที่เหลืออยู่ไม่มากแล้วมาใช้ประโยชน์ ที่แสดงให้เห็นถึงความตั้งใจในการรักษาอาคารไว้ในสภาพดั้งเดิมให้ได้มากที่สุด
ในกระบวนการอนุรักษ์ได้เลือกวิธีการอนุรักษ์ มีการวิเคราะห์รูปแบบ และวัสดุของอาคาร ซึ่งโดยส่วนใหญ่แล้วยังมีความมั่นคงแข็งแรงดี ด้วยมีการใช้งานและดูแลรักษามาอย่างต่อเนื่อง จึงรักษาองค์ประกอบสำคัญและวัสดุแบบดั้งเดิมไว้ได้ เพื่อการใช้งานเป็นร้านกาแฟได้มีการปรับเปลี่ยนพื้นที่ภายในบ้าง มีการสื่อความหมายผ่านการนำเสนอในรูปแบบต่างๆ ร่วมกับการตกแต่งที่สอดคล้องกับองค์ประกอบเดิมของอาคารได้อย่างสร้างสรรค์
จึงถือเป็นงานอนุรักษ์งานสถาปัตยกรรมที่ดีที่จะได้เป็นแบบอย่างให้เกิดการรักษาอาคารเรือนแถวไม้ในย่านเมืองเก่าต่อไป

สิม วัดบากเรือ จังหวัดยโสธร

สิมวัดบากเรือ เป็นตัวแทนของงานสถาปัตยกรรมพื้นถิ่นอีสาน ที่มีคุณค่าทั้งทางสถาปัตยกรรม และทางประวัติศาสตร์ของพื้นที่ หากแต่เมื่อมีการสร้างอุโบสถหลังใหม่ซึ่งมีขนาดใหญ่กว่าขึ้น การประกอบศาสนกิจต่างๆจึงไปอยู่ที่อาคารใหม่ ไม่ได้ใช้อาคารนี้อีกต่อไป แต่ด้วยการเห็นคุณค่าร่วมกันของชาวบ้านและ
กรมศิลปากรในความแท้ของรูปทรง และองค์ประกอบส่วนประดับทางสถาปัตยกรรม จึงได้มีการบูรณะอาคารตามกระบวนการที่ครบถ้วนของกรมศิลปากร มีการแก้ไขวัสดุมุงหลังคาให้กลับคืนมาเป็นแบบดั้งเดิมตามผลของการศึกษาวิเคราะห์และเป็นไปตามความเห็นของประชาคมในพื้นที่ มีการปรับปรุงสภาพโดยรอบ
ของอาคารให้เป็นพื้นที่เปิดโล่ง ส่งผลให้ชาวบ้านกลับมาใช้งานที่สิมหลังนี้อีกครั้ง แสดงถึงความตระหนักในคุณค่าของอาคาร ความสำคัญของการอนุรักษ์ และความร่วมมือร่วมใจของคนในพื้นที่ร่วมกับหน่วยงานภาครัฐในการรักษาโบราณสถานอันเป็นสมบัติของชุมชนได้เป็นอย่างดี

ศาลาการเปรียญ (หอแจก) วัดธรรมละ จังหวัดอุบลราชธานี

ศาลาการเปรียญ (หอแจก) วัดธรรมละ เป็นงานสถาปัตยกรรมที่มีคุณค่าทั้งทางสถาปัตยกรรม
และงานศิลปกรรม โดยเป็นตัวแทนของทั้งงานสถาปัตยกรรมพื้นถิ่นอีสานผสมผสานกับฝีมือช่างและการตกแต่งด้วยงานปูนปั้นแบบญวน การอนุรักษ์มีกระบวนการดำเนินงานเป็นขั้นตอนอย่างครบถ้วน มีการรักษาองค์ประกอบด้วยการซ่อมแซมตามเทคนิคฝีมือช่างดั้งเดิม สามารถรักษาความแท้และเทคนิคงานไม้ดั้งเดิม
ของอาคารที่น่าสนใจไว้ได้ดี ส่วนที่โดดเด่นที่สุดได้แก่การอนุรักษ์งานฝีมือช่างญวนไว้ได้ครบถ้วน การอนุรักษ์
ที่ทำให้อาคารกลับมาใช้งานตามกิจกรรมเดิมเหมือนเมื่อครั้งอดีตช่วยทำให้สามารถเข้ามาชื่นชมคุณค่างานศิลปกรรมเหล่านี้ได้ ซึ่งทั้งหมดนี้ได้รับความร่วมมือจากคนในพื้นที่ร่วมกับกรมศิลปากรเป็นอย่างดี จนทำให้สามารถรักษาโบราณสถานอันเป็นสมบัติของชุมชนไว้ให้คงอยู่สืบไปได้ ควรที่จะนำมาเป็นแบบอย่างความร่วมมือเพื่อความสำเร็จในการอนุรักษ์ในโครงการอื่น ๆ ต่อไป

ระดับสมควรได้รับการเผยแพร่

อาคารวชิรานุสรณ์  คณะแพทยศาสตร์วชิรพยาบาล  มหาวิทยาลัยนวมินทราธิราช กรุงเทพฯ

การอนุรักษ์อาคารหลังนี้แสดงให้เห็นถึงความตั้งใจในการรื้อฟื้นความงดงามทางศิลปสถาปัตยกรรม
ในอดีตของอาคารให้กลับคืนมา หลังจากที่ได้มีการใช้งานมาอย่างที่ไม่ได้คำนึงถึงคุณค่าของอาคารมาเป็นระยะเวลายาวนาน ได้มีการแก้ไขปัญหาโครงสร้าง ปัญหาความเสื่อมสภาพของอาคาร การรื้อถอนส่วนต่อเติม
ที่กระทบต่อคุณค่าของอาคารออกไป และมีการฟื้นฟูส่วนที่ขาดหายไปจากการสันนิษฐานให้กลับคืนมาจนสมบูรณ์ในปัจจุบัน ซึ่งผลจากการอนุรักษ์ในครั้งนี้ส่งผลให้ตัวอาคารได้กลายมาเป็นภาพลักษณ์ที่แสดงถึงความสำคัญทางประวัติศาสตร์ของวชิรพยาบาลอีกครั้ง หากแต่ยังมีประเด็นในเรื่องการดำเนินการตามรูปแบบรายการและแนวทางที่ผู้ออกแบบกำหนด และเรื่องการปรับปรุงบริเวณโดยรอบที่ไม่ได้คำนึงถึงการฟื้นฟู
ตามแนวทางเดียวกันกับการอนุรักษ์อาคาร รวมทั้งอาคารที่สร้างขึ้นใหม่ในพื้นที่ใกล้เคียงก็ขาดการพิจารณาออกแบบให้เว้นระยะห่าง และคำนึงถึงการส่งเสริมคุณค่าของอาคารอนุรักษ์

ประเภท ค. บุคคลหรือองค์กร อนุรักษ์ศิลปะสถาปัตยกรรม

มูลนิธิอนุรักษ์โบราณสถานในพระราชวังเดิม       

เป็นองค์กรที่ดำเนินงานเรื่องการอนุรักษ์ศิลปสถาปัตยกรรมเพื่อสาธารณประโยชน์ โดยไม่แสวงหาผลกำไร ในพระราชวังเดิมซึ่งเป็นที่ตั้งของโบราณสถานสำคัญ อันเป็นพระราชวังที่ประทับของสมเด็จพระเจ้า
ตากสินมหาราชแห่งกรุงธนบุรี และในสมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์ใช้งานเป็นวังที่ประทับของพระมหากษัตริย์
และพระราชวงศ์ชั้นสูงในราชวงศ์จักรีอีกหลายพระองค์  ดูแลให้มีการดำเนินการอนุรักษ์โบราณสถานตามหลักวิชาการอย่างเคร่งครัด มีกิจกรรมที่ช่วยจุดประกาย ส่งเสริมและสนับสนุนการศึกษาค้นคว้าวิจัยทางประวัติศาสตร์ที่เกี่ยวข้องกับพระราชวังเดิม ให้ประชาชนและหน่วยงานอื่น ๆ ได้ตระหนักถึงประโยชน์ของการอนุรักษ์อาคารที่มีคุณค่าทางประวัติศาสตร์ของชาติ มีการประสานความร่วมมือจากหน่วยงานภาครัฐ
และภาคประชาชนอย่างสม่ำเสมอ และในปัจจุบันยังได้ขยายผลไปยังโบราณสถานที่เกี่ยวข้องกับสมเด็จพระเจ้า
ตากสินฯ แหล่งอื่น ๆ อีกด้วย

ชมรมรักบ้านเกิดนครศรีธรรมราช และกลุ่มขับเคลื่อนท่าวัง จังหวัดนครศรีธรรมราช

เป็นการประสานงานร่วมกันของคนรุ่นเก่าและคนรุ่นใหม่ที่ได้ก่อตั้งเป็นองค์กรที่มีเป้าหมายในการ
เป็นศูนย์กลางการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ และสืบสานในเรื่องมรดกวัฒนธรรม ภูมิปัญญาท้องถิ่น รวมถึงเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมในพื้นที่ชุมชนเก่าท่าวัง ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของชุมชนเก่าแก่ในพื้นที่เมืองเก่านครศรีธรรมราช โดยเป็นเครือข่ายการทำงานร่วมกันของทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ภาควิชาการ และภาคประชาชน ในจังหวัดนครศรีธรรมราช ที่ได้จัดกิจกรรมเพื่อการอนุรักษ์มรดกวัฒนธรรมในรูปแบบต่าง ๆ
ช่วยกระตุ้นให้ชาวเมืองตระหนักถึงคุณค่า เกิดความรักและหวงแหนสิ่งดี ๆ ในบ้านเกิดของตนเอง ที่เป็นมรดกตกทอดมาถึงปัจจุบัน ให้กลับมามีชีวิตชีวาขึ้นอีกครั้งด้วยกิจกรรมที่มาจากต้นทุนทางวัฒนธรรมของเมือง
จึงเป็นตัวอย่างที่ดีของหน่วยงานท้องถิ่นที่มีส่วนร่วมในการดำรงรักษามรดกทางสถาปัตยกรรม และภูมิปัญญาท้องถิ่นในพื้นที่ของตนไว้ให้ยังคงอยู่สืบไป

Facebook
Twitter
LinkedIn