รางวัลอนุรักษ์ศิลปสถาปัตยกรรม ประจำปี 2566

ประกาศรางวัลอนุรักษ์ศิลปสถาปัตยกรรม ประจำปี 2566

สมาคมสถาปนิกสยาม ในพระบรมราชูปถัมภ์

 

ประเภท ก. งานอนุรักษ์มรดกทางสถาปัตยกรรมและชุมชน
ระดับดีมาก

1. ตึกสุวรรณวาจกกสิกิจ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กรุงเทพฯ

กระบวนการอนุรักษ์มีความครบถ้วน มีการศึกษาประวัติความเป็นมา มีการประเมินสภาพอาคารเพื่อออกแบบกำหนดวิธีการอนุรักษ์ที่เหมาะสม สามารถรักษาและซ่อมแซมองค์ประกอบสำคัญทางสถาปัตยกรรม ที่เสื่อมสภาพ จนสามารถกลับมาใช้งานอาคารได้อีกครั้งควบคู่ไปกับอาคารเรียนที่สร้างขึ้นใหม่ได้อย่างกลมกลืน การออกแบบได้คำนึงถึงการรักษาคุณค่าส่วนที่เป็นเอกลักษณ์ของอาคารเดิมไว้ ในขณะที่มีการใช้โครงสร้าง ระบบอาคารและวัสดุใหม่เพิ่มเติมเข้ามาอย่างเป็นเหตุเป็นผล ให้มีความสอดคล้องกับการใช้งานในปัจจุบัน นอกจากนี้ ยังได้มีการปรับปรุงภูมิทัศน์ที่ช่วยให้อาคารยังมีสัดส่วนดั้งเดิมแม้จะมีการยกระดับของอาคารให้สูงขึ้น นับเป็นแบบอย่างอันดีให้กับการอนุรักษ์อาคารที่มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์ของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ที่ประสบผลสำเร็จอย่างดียิ่งต่อไป

 

2. โครงการอนุรักษ์และพัฒนาพื้นที่ชุมชนเลื่อนฤทธิ์ กรุงเทพฯ

มีกระบวนการอนุรักษ์ที่ครบถ้วน ประกอบด้วย การศึกษาประวัติของอาคารและที่ตั้ง การศึกษาโครงสร้างและองค์ประกอบของอาคารในช่วงเวลาต่างๆ การขุดตรวจทางโบราณคดี ตลอดจนมีการประเมินสภาพอาคาร มีการเลือกเทคนิควิธีการอนุรักษ์ เพื่อแก้ปัญหาความเสื่อมสภาพของอาคาร แก้ไขการต่อเติมและรื้อสร้างใหม่ที่เกิดขึ้นในช่วงระยะเวลาที่ผ่านมา ซึ่งมีผลให้คุณค่าของความเป็นกลุ่มอาคารประวัติศาสตร์ของชุมชนกลับคืนมาได้อีกครั้ง รวมทั้งได้แก้ปัญหาข้อจำกัดต่างๆ จากมูลค่าของที่ดิน ความต้องการในเรื่องพื้นที่ใช้สอย และงานระบบต่างๆ ได้อย่างสร้างสรรค์ เป็นการปรับประโยชน์ใช้สอยตึกแถวเก่าเพื่อใช้งานสืบต่อไปที่เป็นตัวอย่างที่ดีของการบริหารจัดการพื้นที่ที่สามารถรักษาสมดุลระหว่างการอนุรักษ์และการพัฒนา ที่มีผลดีต่อเศรษฐกิจและสังคม และถือเป็นโครงการที่เกิดขึ้นด้วยความร่วมมือร่วมใจของคนในชุมชนเองเป็นครั้งแรก

 

ระดับดี
1. วิหารโคมคำ วัดพระธาตุเสด็จ จังหวัดลำปาง


เป็นอาคารที่มีคุณค่าทั้งทางประวัติศาสตร์และทางสถาปัตยกรรม เป็นตัวแทนของงานสถาปัตยกรรมล้านนาที่มีสภาพค่อนข้างสมบูรณ์ที่หาได้ยากในปัจจุบัน อาคารมีความแท้ในเรื่องของรูปทรง องค์ประกอบทางสถาปัตยกรรม และพื้นที่ใช้สอยภายใน การอนุรักษ์อาคารมีกระบวนการและความตั้งใจที่จะอนุรักษ์อาคารให้กลับไปใช้วัสดุก่อสร้างและการตกแต่งแบบดั้งเดิม ด้วยการแก้ไขงานบูรณะในครั้งก่อนที่ใช้ปูนซีเมนต์ให้กลับคืนมาเป็นแบบดั้งเดิมตามผลของการศึกษาวิเคราะห์ มีการรื้อฟื้นสภาพพื้นที่ตั้งโดยรอบของอาคารให้กลับมาเป็นดินที่สามารถช่วยแก้ปัญหาความชื้นได้ แสดงออกถึงความตระหนักในคุณค่า ความเข้าใจที่ถูกต้องในเรื่องการอนุรักษ์ และความร่วมมือร่วมใจของคนในพื้นที่ร่วมกับหน่วยงานของกรมศิลปากรในท้องถิ่น กับสถาบันการศึกษา เป็นตัวอย่างของความสัมพันธ์อันดีระหว่างวัด ชุมชน และสถาบันหน่วยงานที่เกี่ยวข้องที่เป็นปัจจัยสำคัญของการอนุรักษ์อย่างยั่งยืน

 

2. กุฎิหลวงพ่อทอง วัดดอนสะท้อน จังหวัดชุมพร


เป็นอาคารที่มีคุณค่าทางประวัติศาสตร์ในพื้นที่ การอนุรักษ์มีกระบวนการดำเนินงานเป็นขั้นเป็นตอน มีการจัดทำแบบสถาปัตยกรรม และมีการรักษาองค์ประกอบด้วยการซ่อมแซมตามเทคนิคฝีมือช่างดั้งเดิม สามารถรักษาความแท้และเทคนิคงานไม้ดั้งเดิมของอาคารที่น่าสนใจไว้ได้ค่อนข้างดี พื้นที่ภายในอาคารแสดงการอยู่อาศัยแบบเดิมผสมผสานการใช้งานใหม่ในฐานะพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นได้ดี ซึ่งผลจากการอนุรักษ์แบบเบื้องต้นนี้ได้ส่งผลดีต่อสังคมและชุมชนโดยรอบ

3. พิพิธภัณฑ์ท้องถิ่น “ชุมทางประวัติศาสตร์ทุ่งสง” จังหวัดนครศรีธรรมราช


เป็นอาคารที่มีคุณค่าทั้งทางสถาปัตยกรรมและทางประวัติศาสตร์ของพื้นที่ซึ่งเป็นชุมทางรถไฟขนาดใหญ่ จากอาคารที่เคยเป็นธนาคารแห่งแรกของภาคใต้ การอนุรักษ์มีการจัดทำแบบสถาปัตยกรรม ที่ได้มีการแก้ไขปัญหาของโครงสร้าง และความเสื่อมสภาพของวัสดุในส่วนต่างๆ ของอาคาร มีการปรับการใช้สอยอาคารเพื่อประยุกต์ใช้ประกอบกิจกรรมของชุมชนในปัจจุบัน นับเป็นแบบอย่างของอีกทางเลือกของการนำเสนออาคารทางประวัติศาสตร์ ที่มีคุณค่าทางจิตใจต่อผู้คนในพื้นที่ทุ่งสงและบริเวณใกล้เคียง ที่ส่งผลดีต่อเศรษฐกิจและความยั่งยืนของชุมชน

4. มัสยิดบ้านควนลังงา จังหวัดปัตตานี


เป็นอาคารที่มีคุณค่าทางสถาปัตยกรรมเป็นอย่างมาก ด้วยเป็นงานสถาปัตยกรรมมุสลิมที่สร้างด้วยไม้ที่หาได้ยาก ซึ่งผู้ครอบครองได้ดูแลรักษาอาคารได้ดีมาอย่างสม่ำเสมอ อาคารหลังนี้ยังคงความแท้ทั้งในแง่ของรูปแบบทางสถาปัตยกรรมและวัสดุได้อย่างครบถ้วน การอนุรักษ์อาคารดำเนินการโดยหน่วยงานที่รับผิดชอบด้วยกระบวนการทำงานที่ครบถ้วน ได้เลือกเทคนิควิธีการอนุรักษ์ที่สามารถรักษาองค์ประกอบสำคัญ วัสดุแบบดั้งเดิมของอาคารไว้ได้อย่างดี มีการสืบทอดการใช้งานในการประกอบศาสนกิจแบบดั้งเดิมมาจนถึงในปัจจุบัน ถือเป็นศูนย์รวมใจของคนในชุมชน ที่มีความตั้งใจที่จะรักษาอาคารศาสนสถานที่มีคุณค่าและหลงเหลืออยู่น้อยมากให้คงอยู่สืบไป

 

ประเภท ก. งานอนุรักษ์มรดกทางสถาปัตยกรรมและชุมชน
ระดับสมควรได้รับการเผยแพร่

1. พิพิธภัณฑ์บ้านป่องนัก จังหวัดลำปาง


เป็นอาคารที่มีความสำคัญทั้งทางประวัติศาสตร์และทางสถาปัตยกรรมที่ยังรักษาความแท้ของรูปทรงภายนอก องค์ประกอบอาคาร ไว้ได้ค่อนข้างครบถ้วน มีการดูแลรักษาอาคารเป็นอย่างดี โดยมีการซ่อมแซมโครงสร้างและองค์ประกอบต่าง ๆ อย่างต่อเนื่อง มีการจัดแสดงเป็นพิพิธภัณฑ์และสื่อความหมายให้เห็นถึงประวัติศาสตร์ที่เกี่ยวข้องได้ค่อนข้างดี อย่างไรก็ตามยังขาดการออกแบบอนุรักษ์ที่มีกระบวนการทำงานที่ครบถ้วน ที่มีการวิเคราะห์รูปแบบ วัสดุ และสีดั้งเดิมของอาคาร ขาดความละเอียดในการเก็บข้อมูลทางสถาปัตยกรรม

2. อาคารสำนักงานคณะกรรมการสงฆ์จังหวัดสุโขทัย วัดสว่างอารมณ์วรวิหาร จังหวัดสุโขทัย


การอนุรักษ์อาคารหลังนี้แสดงให้เห็นถึงความตั้งใจในการรื้อฟื้นสภาพเดิมของอาคารให้กลับคืนมา มีการแก้ไขปัญหาโครงสร้าง และความเสื่อมสภาพต่าง ๆ ของอาคาร ตามปัญหาที่เกิดขึ้น และเป็นการนำเสนอคุณค่าทางประวัติศาสตร์ความเป็นอาคารเรียนทางศาสนาหลังแรกของวัด เป็นสัญลักษณ์ที่มีคุณค่าทางจิตใจผู้คนในพื้นที่สวรรคโลก เป็นตัวอย่างที่ดีให้กับวัดอื่นๆให้หันมาเห็นคุณค่าของมรดกสถาปัตยกรรมที่มีลักษณะคล้ายคลึงกันอย่างไรก็ตามเมื่อมีการยกอาคารให้สูงขึ้นกว่าระดับเดิมก็ควรคิดถึงการรักษาสัดส่วนดั้งเดิมไว้

 

3. ยงคัง ท่าวัง จังหวัดนครศรีธรรมราช


การอนุรักษ์อาคารแสดงให้เห็นถึงความตั้งใจในการรักษาอาคารให้ยังคงอยู่ในสภาพดั้งเดิมของอาคารในภาพรวมไว้ได้เป็นอย่างดี ตัวอาคารยังเป็นส่วนหนึ่งในการบอกเล่าประวัติศาสตร์ของเมืองนครศรีธรรมราชอีกด้วย ในกระบวนการอนุรักษ์ได้เลือกวิธีการอนุรักษ์ที่สามารถรักษาองค์ประกอบสำคัญและวัสดุแบบดั้งเดิมไว้ได้ แม้พื้นที่ภายในจะมีการปรับการใช้งานที่ได้เปลี่ยนแปลงไปจากกิจกรรมดั้งเดิมตามประวัติของอาคาร อย่างไรก็ตามควรพิจารณาเรื่องการสื่อความหมายของอาคารไม่ให้เกิดความเข้าใจผิดเกี่ยวกับเรื่องราวความเป็นมาของอาคารหลังนี้

ประเภท ข. งานออกแบบใหม่ในบริบทการอนุรักษ์
1. คาเฟ่ อเมซอน สาขาย่านเมืองเก่าสงขลา จังหวัดสงขลา


การอนุรักษ์อาคารเก่าและออกแบบอาคารเพิ่มเติมในโครงการนี้แสดงให้เห็นถึงความตั้งใจที่ต้องการจะพัฒนาพื้นที่ย่านเมืองเก่าด้วยการปรับสภาพของอาคารที่มีความเสื่อมโทรมให้กลับมามีชีวิตอีกครั้ง การอนุรักษ์อาคารเก่ามีการออกแบบเพื่อประยุกต์ใช้กับกิจกรรมใหม่ ได้ค่อนข้างดี มีกระบวนการศึกษาข้อมูลเบื้องต้น วิเคราะห์รูปแบบ และวัสดุของอาคารเพื่อใช้เป็นข้อมูลในการออกแบบ มีการใช้วัสดุเดิมที่เป็นเอกลักษณ์ของพื้นที่ที่ยังเหลืออยู่ ผสมผสานกับวัสดุใหม่ที่สั่งทำให้เหมือนเดิมที่ถือเป็นการฟื้นฟูภูมิปัญญาของท้องถิ่นและสามารถใช้เป็นแหล่งวัสดุที่สามารถนำมาใช้ในการอนุรักษ์อาคารเก่าของเมืองเก่าสงขลาหลังอื่นๆด้วย สำหรับอาคารใหม่ที่สร้างเพิ่มเติมขึ้น ช่วยแก้ปัญหาในเรื่องมุมมองและเป็นไปตามความต้องการของกิจกรรมใหม่ได้เป็นอย่างดี โดยใช้รูปแบบที่มีความกลมกลืนโดยไม่ต้องลอกเลียนแบบอาคารเก่า ช่วยสร้างบรรยากาศที่ส่งเสริมคุณค่าของอาคารและเชิดชูความสำคัญของพื้นที่เมืองเก่าสงขลาได้เป็นอย่างดีแม้ยังมีประเด็นอยู่บ้างทางด้านการอนุรักษ์อาคารเก่า มีการสื่อความหมายผ่านการนำเสนอร่องรอยเดิมของอาคารร่วมกับการตกแต่งเพิ่มเติมด้วยงานศิลปกรรมในลักษณะที่กลมกลืนกับอาคาร แต่ก็ควรพิจารณาถึงความเหมาะสมที่จะไม่ก่อให้เกิดความเข้าใจผิดว่าเป็นรูปแบบของแท้ดั้งเดิมไปทั้งหมด

ประเภท ค. บุคคลหรือองค์กร อนุรักษ์ศิลปสถาปัตยกรรม
1. ศูนย์อนุรักษ์เฮือนโบราณ โดย นายรุ่งโรจน์ เปี่ยมยศศักดิ์ จังหวัดเชียงใหม่


นายรุ่งโรจน์ เปี่ยมยศศักดิ์ ซึ่งเป็นชาวชุมชนสันป่าตองโดยกำเนิด ได้ก่อตั้งศูนย์อนุรักษ์เฮือนโบราณนี้ขึ้นให้เป็นองค์กรที่ทำหน้าที่เป็นสื่อกลางในการรวมกลุ่มและแลกเปลี่ยนเรียนรู้สำหรับผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องในการอนุรักษ์มรดกสถาปัตยกรรมพื้นถิ่นของเรือนโบราณ ในอำเภอสันป่าตอง จังหวัดเชียงใหม่ และพื้นที่ใกล้เคียง โดยได้ทุ่มเทให้ความสำคัญกับลงพื้นที่สำรวจและทำความเข้าใจกับคนในชุมชนโดยการใช้งานศิลปะเป็นเครื่องมือสำคัญ รวมไปถึงการสืบสานภูมิปัญญาของสล่าล้านนา (ช่างไม้) ให้ยังคงอยู่ ได้พยายามผลักดันในด้านนโยบายและกฎหมายท้องถิ่น และการสร้างภาคีเครือข่าย รวมถึงได้ทำให้เกิดการสนับสนุนในด้านงบประมาณและบุคลากรทั้งจากภาครัฐและเอกชน เพื่อให้เรือนโบราณในพื้นที่ยังคงอยู่และส่งต่อความภาคภูมิใจนั้นไปสู่คนในรุ่นต่อไป

21 / 04 / 2566


โครงการรางวัลอนุรักษ์ศิลปสถาปัตยกรรม

ก.อนุรักษ์สถาปัตยกรรม

ข.ออกแบบใหม่

ค.บุคคลองค์กร

Facebook
Twitter
LinkedIn