ASA Trip 2023 : ตอนที่ 1 เยี่ยมชมสถาปัตยกรรมนอกเมืองเซี่ยงไฮ้

ช่วงปลายเดือนตุลาคม 2566 ที่ผ่านมา สมาคมสถาปนิกสยาม ในพระบรมราชูปถัมภ์ ได้จัด ASA Trip 2023 เป็นกิจกรรมพาคณะกรรมการบริหารและคณะทำงานของสมาคมฯ ศึกษาดูงาน เดินทางไปเยี่ยมชมสถาปัตยกรรมที่เมืองเซี่ยงไฮ้ ประเทศจีน วันที่ 20-24 ตุลาคม 2566 ที่มาที่ไปของการดูงานในครั้งนี้ เริ่มจากงานสถาปนิก 66 ที่ผ่านมา ทางสมาคมสถาปนิกสยามได้เชิญคุณ Xu Tiantian เป็นสถาปนิกหญิงชาวจีนมาร่วมเป็นกรรมการตัดสินงานประกวดแบบนานาชาติในงานสถาปนิก 66 จากการได้เห็นผลงานการออกแบบของแกที่จีนน่าสนใจมาก ในการจัดกิจกรรมดูงานครั้งนี้ ทีมจัดกิจกรรมจึงได้วางโปรแกรมเป็นไฮไลท์ พาทุกคนไปเยี่ยมชมงานออกแบบของคุณ Xu Tiantian รวมถึงการไปเยี่ยมชมเมืองและสถาปัตยกรรมใหม่ๆ ของเซี่ยงไฮ้ มหานครทางเศรษฐกิจอันดับ 1 ของประเทศจีน ที่มีการพัฒนาก้าวหน้าไปอย่างรวดเร็ว

การเดินทางมีผู้ร่วมเดินทางทั้งหมด 67 คน ในช่วงแรกวันที่ 20-22 ตุลาคม 2566 จะเป็นการเดินทางไปเยี่ยมชมสถาปัตยกรรมที่อยู่นอกเมืองเซี่ยงไฮ้ ใครที่สนใจ ตามมาอ่านกันได้เลยครับ เดี๋ยวผมจะเล่าสรุปให้ฟัง
คณะของเราเริ่มต้นการเดินทางวันแรกด้วยสายการบินไทยรักคุณเท่าฟ้า จากกรุงเทพฯ ถึงเมืองเซี่ยงไฮ้ในตอนเย็นๆ เนื่องจากใช้เวลาในการตรวจคนเข้าเมืองนานหน่อย ช่วงเย็นและค่ำคณะเราจึงใช้เวลาพักผ่อนและเดินชมบรรยากาศถนนหนานจิงลู่ ที่เป็นถนนคนเดินยุคใหม่ ยาว1.5 กิโลเมตร สองข้างทางเต็มไปด้วยร้านค้าและอาคารสไตล์ยุโรป ไปจนถึงแม่น้ำหวงฝู่ ชมแสงไฟของย่านเดอะบันด์และหอไข่มุกฝั่งตรงข้าม และคืนนี้คณะของเราเข้าพักโรงแรมที่เซี่ยงโฮ้ การทัศนศึกษาวันที่สองเริ่มต้นขึ้นในตอนเช้าวันที่ 21 ตุลาคม 2566 คณะของเราเดินทางโดยรถไฟฟ้าความเร็วสูงจากเมืองเซี่ยงไฮ้ เดินทางไปถึงสถานีจิ้นหยุน มณฑลเจ้อเจียง เป็นเมืองที่อยู่ทางใต้ ตอนกลางของประเทศจีน ใช้เวลาเดินทาง 2 ชั่วโมงครึ่ง และเดินทางต่อด้วยรถบัสอีกครึ่งชั่วโมง เพื่อจะเดินทางไปเยี่ยมชม

Jinyun Quarries 8 , 9 และ 10
เป็นโครงการสถาปัตยกรรมเพื่อการท่องเที่ยวรูปแบบใหม่ของจีน ที่ตั้งอยู่ในพื้นที่ภูเขาสูงและมีป่าไม้สมบูรณ์ จึงกลายเป็นแหล่งเหมืองหินสำคัญที่มีชื่อเสียงในเรื่องการทำเหมืองหินที่ขุดด้วยมือ มายาวนานกว่า 1,000 ปี แต่ปัจจุบันกลายเป็นเหมืองหินที่ถูกทิ้งร้าง โครงการนี้จึงเป็นโครงการที่ต้องการสร้างคุณค่าใหม่ให้กับสิ่งแวดล้อมที่ถูกทำลาย และฟื้นชีวิตเหมืองร้างให้กลับมาสร้างประโยชน์ในกับท้องถิ่นอีกครั้ง แค่ได้ฟังแนวคิดก็ก้าวหน้ามาก มีการพัฒนาเหมืองหินเก่า 9 แห่ง จากเหมืองหินในพื้นที่กว่า 3,000 แห่ง เพื่อเป็นส่วนหนึ่งของการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ โดยสถาปนิกหญิงชาวจีน Xu Tiantian จาก DnA Design and Architecture มารับหน้าที่เป็นผู้ออกแบบ

การออกแบบ สถาปนิกคำนึงถึงการเปลี่ยนเหมืองหินเก่าเหล่านี้ให้กลายเป็นพื้นที่ทางวัฒนธรรม เช่น ห้องสมุด พื้นที่จัดการแสดง หรือพื้นที่พบปะสังสรรค์ เพื่อสำหรับคนในพื้นที่และสำหรับนักท่องเที่ยวได้เข้ามาเยี่ยมชมใช้งาน ซึ่งเป็นการปรับเปลี่ยนเหมืองเหล่านี้ด้วยการใส่องค์ประกอบเข้าไป หรือปรับของเดิมเพียงเล็กน้อยเท่านั้น ปัจจุบันปรับปรุงเสร็จไปแล้ว 3 แห่ง คือ 8 ,9,10 คณะของเราเดินเข้าไปเยี่ยมชมเหมืองแรก คือ เหมืองหินหมายเลข 8 เป็นเหมืองที่ออกแบบปรับเปลี่ยนเส้นทางและบันไดที่คนงานเคยใช้ ให้กลายเป็นพื้นที่สำหรับนั่งเล่นอ่านหนังสือ มีปรับปรุงงานแสงสว่าง และเพิ่มพื้นที่ชั้นหนังสือ ที่นั่ง พร้อมด้วยราวกันตกไม้เข้าไป ทำให้ดูกลมกลืนกันเป็นอย่างดีกับพื้นผิวสีน้ำตาลส้มของเหมืองหิน ที่มีspace ที่ดีงามมาก มีความพิเศษ คือ ผนังของเหมืองจะเห็นชั้นของหินและมีแสงธรรมชาติตกกระทบที่เปลี่ยนแปลงไปตลอดวัน สร้างความประทับใจให้ทุกคนไปเยือนมาก จนต้องยกกล่องขึ้นถ่ายรูปบันทึกไว้และต่อคิวถ่ายรูปกับมุมมหาชนกันเรียกว่ามีเมมเท่าไหร่ก็ไม่พอ น่าเสียดายมากวันที่เราไป เหมืองที่ 9 มีการปรับปรุงจึงไม่เปิดให้เข้าชม คณะเราก็เดินไปเยี่ยมชมอีกเหมืองที่ห่างออกไป อีก 100 เมตร คือ เหมืองหินหมายเลข 10 ที่ออกแบบให้ใช้เป็นพื้นที่แสดงกระบวนการ การขุดเหมืองหินด้วยมือแบบที่ชาวบ้านเคยทำกันมาแต่ก่อนอยู่ตามผนังรอบๆ โดยด้านหลังออกแบบเป็นอัฒจันทร์เพื่อให้ผู้ชมสามารถนั่งดูการขุดเหมือง โดยซุ้มทางเข้าเหมืองที่สถาปนิกออกแบบไว้ยังทำหน้าที่ช่วยเสริมความแข็งแรงให้กับกำแพงเหมืองอีกด้วย


โดยการเดินทางเข้าไปเยี่ยมชม Jinyun Quarries 8 , 9 และ 10 ทางโครงการจะมีรถโค้ชขับไปจอดตามจุดต่างๆ ในโครงการ และทุกคนก็จะเดินเท้าเข้าไปเยี่ยมชมโครงการแต่ละเหมืองที่อยู่ต่อเนื่องกัน ระยะไม่ห่างกันมาก ในวันที่คณะของเราไปเยี่ยมชม อากาศก็กำลังเย็นสบาย ทำให้การเดินไปเยี่ยมชมเหมืองเป็นการเดินที่กำลังดี ชมวิวบรรยากาศข้างทางเพลิดเพลินมากๆ และเหมืองที่ไปเยี่ยมชมเป็นงานออกแบบที่ดี space ดีงาม คุ้มค่ากับการได้เดินทางไปเยี่ยมชมมาก

ในพื้นที่เดียวกันกับโครงการ Jinyun Quarries 8 , 9 และ 10 ใกล้ๆ กันยังมีอีกหนึ่งไฮไลต์ เป็นที่ท่องเที่ยวระดับ 5A ( เป็นระดับสูงสุดในการจัดอันดับสถานที่ท่องเที่ยวของจีน ) ในจิ้นหยุน ที่สามารถนั่งรถโค้ชของโครงการ มาลงสถานี อยู่ด้านหน้าทางเข้าสถานที่ท่องเที่ยวเลย

Xiandu Scenic Area
เป็นสถานที่ท่องเที่ยวธรรมชาติ ตามประวัติศาสตร์มีชื่อเสียงมานานตั้งแต่สมัยราชวงศ์ซุย นอกจากสถานที่จะมีธรรมชาติที่สวยงามแล้ว สิ่งที่ดึงดูดผู้คนมากมาย คือ เพื่อมาชมการแสดงทางวัฒนธรรมสำคัญ ที่บริเวณ สะพาน Dingbu ที่มีฉากหลังเป็นภูเขา Zhutan การแสดงที่นี่ คือ การแสดงวิถีชีวิตที่เรียบง่าย มีนักแสดง คือ คน ควาย และคนหาบของ เมื่อถึงเวลาแสดง คน ควาย และคนหาบของ จะพากันเดินข้ามแม่น้ำ บนสะพานหิน โดยมีคนเดินจูงควายนำหน้า มีคนหาบของตามหลัง เดินอย่างช้าๆ ทั้งไปและกลับ เป็นการแสดงเรียบง่าย ไม่ต้องมีเสียงเพลงประกอบ ไม่ต้องเปิดเสียงคำอธิบายใด แต่ทุกคนก็เข้าใจ มีแต่เสียงน้ำที่ล้นจากฝายใต้สะพาน เป็นเสียงหลักที่คุมความเงียบของการแสดง ให้ทุกคนได้ดูอย่างมีสมาธิ และสงบ มีฉากหลังของการแสดงเป็นแม่น้ำ สะพานและภูเขา ที่สวยอลังการตามธรรมชาติสร้างไว้ การแสดงดำเนินไปเงียบๆ ผู้คนที่ไปดู ถ่ายรูปแบบเงียบๆ ชื่นชม กับวิถีชีวิตที่เรียบง่าย สงบแต่ เป็นการแสดงที่เต็มไปด้วยจิตวิญญานของวิถีชิวิตชนบทชาวจีนแบบดั้งเดิม ที่เดินผ่านตรงนี้จริงๆ มาเป็นร้อยๆ ปี เป็นภาพที่งดงามมาก
นอกจากนี้ยังได้ดู สะพานหิน ( Dingbu Bridge ) ที่เป็นสะพานหินดั้งเดิมแบบโบราณ ที่สร้างโดยการวางก้อนหินตั้งห่างกันเป็นระยะ และพาดด้วยแผ่นหินเป็นทางเดินเล็กๆ ที่ใช้เป็นทางเดิน วางขวางแม่น้ำLianxi River โดยมีเสาหินค้ำง่ายๆ ทำหน้าที่เป็นฝายทดน้ำไปด้วย

หลังจากเยี่ยมชม Xiandu Scenic Area เสร็จแล้ว คณะของเราก็ได้เดินทางต่อโดยรถไฟฟ้าความเร็วสูง จากสถานีจิ้นหยุน ไปสถานีหางโจว ใช้เวลาเดินทางประมาณ 1 ชั่วโมง ก็ถึงเมืองหางโจวค่ำๆ เดินเที่ยวถนนคนเดินกลางเมืองหางโจวที่เต็มไปด้วยร้านค้าของซื้อของขายและstreet food มากมายตื่นตาตื่นใจ หลังจากนั้นได้เดินทางเข้าที่พัก วันนี้เราพักกันในเมืองหางโจว พักผ่อนตามอัธยาศัย อากาศเย็นๆ ดีมาก
เช้าวันที่ 22 ตุลาคม 2566 เป็นการเดินทางวันที่สาม คณะเราเดินทางแต่เช้าจากโรงแรมที่พักในเมืองหางโจว เดินทางประมาณ 30 นาที เราก็เดินทางมาถึงหน้าโครงการสถาปัตยกรรมล่าสุดที่พึ่งสร้างเสร็จของ คุณ Wang Shu จาก Amateur Architecture สถาปนิกจีนคนแรกที่ได้รับรางวัล Pritzker Price วันนี้เราจะมาเยี่ยมชมโครงการ

Lin’An Museum
เป็นอาคารพิพิธภัณฑ์สมัยใหม่ ขนาด 26,000 ตารางเมตร ของเมืองหางโจว การวางผังและตัวอาคารได้รับแรงบันดาลใจจากภาพวาดภูมิทัศน์และสถาปัตยกรรมพื้นถิ่นของจีน โดยใช้วัสดุและเทคนิคการสร้างแบบท้องถิ่น เพื่อสร้างพิพิธภัณฑ์สมัยใหม่ที่ใช้จัดเก็บสิ่งของโบราณที่เป็นของตระกูล Qian ภายในโครงการประกอบด้วยกลุ่มอาคารหลายหลัง โดยทางเข้าหลักโครงการ วางตำแหน่งอาคารพาณิชย์ ซึ่งมีร้านค้าจำหน่ายงานฝีมือท้องถิ่น ร้านกาแฟ อาคารนิทรรศการชั่วคราว ไว้ตามแกนทิศเหนือ ทุกคนเวลาเดินเข้าโครงการก็จะผ่าน zone นี้ก่อน และเวลาเดินเข้าไป court ด้านใน ทางด้านทิศใต้ จะเป็นตัวอาคารพิพิธภัณฑ์ที่วางแนวยาวเป็นปีกอาคารขนานไปกับแนวภูเขาด้านหลัง ช่วยป้องกันการรบกวนจากถนนสายหลัก สร้างความสงบให้กับสวนที่เป็นพื้นที่สวนสาธารณะและทะเลสาบ รูปแบบอาคาร 3 หลังด้านทิศใต้ ได้แรงบันดาลใจมากจากบ้านเรื่อนพื้นถิ่น ใช้เป็นอาคารนิทรรศการถาวร มีจุดเด่นคือผนังสร้างจากดินตามวิธีการดั้งเดิมโบราณของจีน ส่วนทางด้านทิศเหนือเป็นกลุ่มอาคารเอนกประสงค์ และอาคารชงชาอยู่ในสวน โดยภาษาของงานสถาปัตยกรรมทั้งหมดของโครงการ ยังคงเอกลักษณ์แบบจีนแต่มีภาษาที่เป็นสมัยใหม่ ร่วมสมัยและเท่ห์มาก ถ่ายรูปสวยทุกมุม details การจบวัสดุคิดมาอย่างดี คุ้มค่ามากที่ได้มาเยี่ยมชม

การออกแบบและการใช้วัสดุต่างๆของอาคารนี้ สถาปนิกตั้งใจให้เป็นการพัฒนาด้านงานฝีมือในท้องถิ่นด้วย facade อาคารแต่ละหลังทำจากวัสดุที่แตกต่างกัน จากวัสดุที่พบตามพื้นถิ่นที่อยู่อาศัยในภูมิภาค โดยให้หินที่ผลิตได้ในเมืองนี้เป็นวัสดุหลัก ผสมด้วย อิฐ เศษหิน กรวด โคลน ไม้ และกระเบื้องยึด ไปจนถึงวัสดุร่วมสมัย เช่น เหล็ก คอนกรีต และ เอามาผสมผสานกันเป็น pattern ที่ได้แรงบันดาลใจมาจากรูปวาดทิวทัศน์จีนในอุดมคติธรรมชาติ สำหรับใครที่สนใจเรื่องวัสดุก็จะเดินชม หยิบ ลูบจับ และถ่ายรูปได้ตามอัธยาศัย

พื้นที่ภายใน หลังจากเข้าไปในพิพิธภัณฑ์จากทางทิศใต้ผ่านโถงหลัก ออกแบบให้ผู้เข้าชมเดินเป็นทางยาวต่อเนื่องซิกแซกไปตาม form อาคาร ผ่านห้องโถงพิพิธภัณฑ์หลายแห่งซึ่งมีหลังคาโค้งและมีจุดเด่น คือ โครงถักไม้ ที่พัฒนามาจากโครงสร้างไม้โบราณและผสมกับวัสดุใหม่อย่างเหล็กเพื่อให้เกิดความแข็งแรง ห้องโถงใหม่แต่ละห้องถูกออกแบบให้เล่าเรื่องราวต่างๆ ของประวัติครอบครัว Qian ซิกแซกขึ้นไปบนพื้นที่ ที่ตั้งใจออกแบบให้มีความลาดเอียงเล็กน้อยเพื่อให้สะท้อนการเดินขึ้นภูเขา

ในบางครั้งทางเดินจะเปิดออกสู่สะพานและทางเดินภายนอกเพื่อสร้างบรรยากาศระหว่างทางเดินเชื่อมกับวิวภายนอก รวมถึงทำให้งานออกแบบภายนอกและภายในเชื่อมประสานกัน
ในการเดินชมนิทรรศการต่างๆ การจัดแสดงจะจบภายในอาคารแต่ละหลัง เมื่อเดินชมอาคารเสร็จแล้วสามารถเดินเข้าไปเดินเล่นต่อในสวนสาธารณะด้านใน ที่เป็นอาคารชงชาแบบสถาปัตยกรรมร่วมสมัย ตั้งอยู่กับทะเลสาบได้


ในตอนบ่ายหลังจากรับประทานอาหารกลางวันเสร็จแล้ว มีเวลาช่วงสั้นๆ คณะเราได้ทราบว่าที่เมืองหางโจว มีงานออกแบบของสถาปนิกอิตาลี่ ระดับโลก Renzo Piano ร่วมมือกับสถาปนิกท้องถิ่น GOA (Group of Architects)ที่พึ่งสร้างเสร็จ และอยู่ใกล้กับร้านอาหารที่เรารับประทานกลางวัน สามารถเดินไปได้เลย เราจึงเดินไปเยี่ยมชม

THE OŌELI COMPLEX (Tianmuli)
เป็นคอมเพล็กซ์ในเมืองขนาดใหญ่ที่มีพื้นที่ใช้สอยรวม 230,000 ตารางเมตร เป็นพื้นที่ของสำนักงานใหญ่สำหรับแบรนด์เครื่องแต่งกาย JNBY หอศิลป์ ร้านค้าของดีไซเนอร์ พื้นที่จัดกิจกรรม และโรงแรมบูติก เป็นโปรเจ็กต์ที่ 2 ของ Piano ที่สร้างเสร็จสมบูรณ์ในประเทศจีน โดยโครงการเริ่มก่อสร้างในปี 2556 และใช้เวลาก่อสร้างเกือบ 8 ปี โครงการที่ใหญ่เกือบจะเป็นเมืองเล็กๆ ประกอบด้วยอาคาร 17 หลัง ที่จัดเรียงรอบๆ ตรงกลางจึงออกแบบผังให้เป็น พลาซ่าสีเขียวส่วนกลางที่มีขนาด 130 ม. x 95 ม. ที่ออกแบบให้เป็นเหมือนห้องนั่งเล่นในเมืองกลางแจ้ง โดยพลาซ่าประกอบไปด้วย reflrcting pondขนาดใหญ่และสวนเพื่อให้ผู้ใช้ต่างๆ ได้รวมตัวกันและผ่อนคลาย ไม่ว่าจะเป็นพนักงานออฟฟิศ คนดูนิทรรศการ หรือคนที่นั่งอยู่ในคาเฟ่ ซึ่งสถาปนิกหวังว่าจะเป็นพื้นที่สร้างแรงบันดาลใจสำหรับกิจกรรมทางศิลปะ จึงออกแบบให้มีแกนกลางเป็นสามมิติ หลายชั้น และเป็นสีเขียว อาคารทุกหลังล้อมรอบและมองมาที่แกนกลางนี้

ตำแหน่งของอาคารทุกหลังได้รับการศึกษาเรื่องทิศทางลมและแสงอาทิตย์อย่างละเอียด จึงเป็นที่มาของการออกแบบอาคารแต่ละหลัง โดยเฉลี่ยแต่ละอาคารจะมีเพียง 9 ชั้น อาคารบางหลังมีการจัดวางด้านหลังไว้ที่ชั้น 8 เพื่อให้แสงแดดส่องเข้ามายังพลาซ่ากลางได้มากขึ้น และช่วยให้ผู้ใช้งานในอาคารต่างๆ มองเห็นทิวทัศน์ด้านบนได้กว้างขึ้นด้วย รูปแบบของ Facade ที่ออกแบบโครงการนี้ ออกแบบให้ช่องหน้าต่างความกว้างแคบ เป็นเอกลักษณ์ของ Renzo Piano Building Workshop โดยโครงการนี้ ออกแบบให้ facade ส่วนหน้าอาคารมีความแตกต่างกันสองแบบ เพื่อตอบสนองต่อเส้นที่ตัดกันของสถานที่ ได้แก่ เมืองที่ล้อมรอบอาคารนี้และโอเอซิสที่อาคารล้อมรอบ ด้านหน้าหันหน้าเข้าด้านในโครงการ จะเป็น green facade ที่ปลูกต้นไม้ให้ความเขียวขจีและมีหน้าต่างบานใหญ่เพื่อเพิ่มแสงสว่างตอนกลางวันและเสริมสร้างการเชื่อมต่อทางสายตากับพลาซ่ากลาง ในขณะที่ด้านหน้าหันหน้าไปทางภายนอกเป็นการผสมผสานระหว่างกระจก fritted แผงอลูมิเนียม และคอนกรีต


นอกจากนี้ facade ยังออกแบบให้เป็นระบบโมดูลาร์เพื่อสร้างการออกแบบส่วนหน้าที่ดูเรียบง่าย วิศวกรที่ปรึกษา Arup ได้เลือกที่จะหุ้มส่วนหน้าภายนอกด้วยแผ่นอะลูมิเนียมอะโนไดซ์ที่ได้รับการดูแลเป็นพิเศษ ทำให้คอมเพล็กซ์แห่งนี้เป็นแห่งแรกในอุตสาหกรรมการก่อสร้างพลเรือนของจีน ที่ใช้วัสดุทั่วทั้งส่วนหน้าบนพื้นที่ขนาดใหญ่ และใช้กระจกใสพิเศษมีจุดมุ่งหมายเพื่อทำให้อาคารดูแขวนลอยและมีน้ำหนักเบา ซึ่งสะท้อนกับภาพของทะเลสาบตะวันตกหางโจว


Reflecting pond ที่โดดเด่นที่สุดในพลาซ่า ออกแบบให้เหมือนกระจกเงาน้ำทรงสี่เหลี่ยม โดยมีคุณสมบัติ JMLwater สี่เหลี่ยมวอเตอร์สเคป แบบกระจกสามารถบรรลุชั้นน้ำที่ลึกเพียง 2 ซม. ซึ่งเป็นความลึกที่ผิวน้ำจะสามารถจับภาพการเคลื่อนไหวอันละเอียดอ่อนของธรรมชาติและบันทึกลงบนผิวน้ำที่สะท้อนได้ ลักษณะของน้ำกำลังมีความสำคัญมากขึ้นเรื่อยๆ สำหรับเขตเมือง เนื่องจากไม่เพียงแต่ดึงดูดความสัมพันธ์ของคนๆ หนึ่งให้ใกล้ชิดกับธรรมชาติมากขึ้นเท่านั้น แต่ยังมอบทัศนียภาพที่น่ารื่นรมย์เมื่อมองจากหน้าต่างของส่วนสำนักงานด้วย

Reflecting pond ที่โดดเด่นที่สุดในพลาซ่า ออกแบบให้เหมือนกระจกเงาน้ำทรงสี่เหลี่ยม แบบกระจกสามารถรับชั้นน้ำที่ลึกเพียง 2 ซม. ซึ่งเป็นความลึกที่ผิวน้ำจะสามารถจับภาพการเคลื่อนไหวอันละเอียดอ่อนของธรรมชาติและบันทึกลงบนผิวน้ำที่สะท้อนได้ ไม่เพียงแต่ดึงดูดความสัมพันธ์ของคนๆ หนึ่งให้ใกล้ชิดกับธรรมชาติมากขึ้นเท่านั้น แต่ยังมอบทัศนียภาพที่น่ารื่นรมย์เมื่อมองจากหน้าต่างของส่วนสำนักงานด้วย
ตอนที่คณะเราเดินเข้าไปเยี่ยมชม เป็นเวลาบ่าย มีคนหนุ่มสาว ที่ทำงานในคอมเพล็กซ์นี้ มาใช้งานพลาซ่ากันเยอะมาก รวมถึงด้างล่างของทุกอาคารส่วนใหญ่เป็นพื้นที่ Commercial ร้านกาแฟ ร้านหนังสือ ก็มีคนเข้าไปใช้บริการเต็ม เป็น public space ที่น่าสนใจ รวมถึงมีกิจกรรมให้ทำหลากหลายมาก

หลังจากเสร็จจากการเยี่ยมชมโครงการ THE OŌELI COMPLEX (Tianmuli) แล้วคณะของเราก็เดินทางไปสถานีรถไฟความเร็วสูงเมืองหางโจว เพื่อจะนั่งรถไฟเดินทางต่อไปยังเมืองเซี่ยงไฮ้ ใช้เวลาประมาณ 1 ชั่วโมง ก็จะถึงเมืองเซี่ยงไฮ้ค่ำๆ ถือเป็นการจบการทัศนศึกษาดูงาน ที่เมืองจิ้นหยุนและเมืองหางโจว ใน3วันแรกของการมาศึกษาดูงานนอกเมืองเซี่ยงไฮ้ ที่ได้ทั้งความประทับ updateสถาปัตยกรรมใหม่ไปพร้อมๆกับการชมเมืองที่มีแต่คนรวยอย่างเมืองหางโจว เป็นสามวันแรกที่สนุกมาก ในบทความถัดไป เราจะมาเล่ารายละเอียดของการเดินทางศึกษาดูงานสถาปัตยกรรมในเมืองเซี่ยงไฮ้ ที่สนุกไม่แพ้สามวันแรก อย่าลืมตามไปอ่านกันต่อนะครับ

#ASATRIP2023
Photo Credit: คุณอดุลย์, คุณไพทยา, คุณเจอร์รี่, คุณบุญชัย, คุณเฉลิมพล, คุณปราการ

 

Facebook
Twitter
LinkedIn