ข้อคิดและบทเรียนจากกรณีโบสถ์คริสตจักรที่ 1 เวียง เชียงราย

ผศ.สุดจิต (เศวตจินดา) สนั่นไหว | อุปนายกสมาคมสถาปนิกสยามฯ

ผศ.สุดจิต (เศวตจินดา) สนั่นไหว
อาจารย์ประจำคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต และอุปนายกฝ่ายกิจกรรมเมืองและนโยบายสาธารณะ สมาคมสถาปนิกสยามฯ

บทความฉบับเผยแพร่ใน นสพ.เดลินิวส์ 16 เมษายน 2554.

ท่ามกลางข่าวที่มีผู้แจ้งมายังสมาคมสถาปนิกสยามฯ เรื่องคริสตจักรที่ 1 เวียง เชียงราย จะทำการรื้ออาคารโบสถ์ (พระวิหาร) เก่าอายุ 97 ปี หลังวันที่ 24 เมษายน ศกนี้ เพื่อสร้างพระวิหารหลังใหม่ฉลองวาระครบรอบ 100 ปี และเพื่อให้เหมาะสมต่อความต้องการรองรับคนที่เพิ่มขึ้นจากเดิม 300 คน เป็น 1,000 คน รวมทั้งอ้างถึงความชำรุดทรุดโทรมจนไม่อาจซ่อมแซมได้ต่อไปแล้ว ทั้งที่เมื่อ 2 ปีก่อนกรมศิลปากรได้เคยเข้าไปตรวจสอบแล้วมีความเห็นสรุปว่า “…สามารถดำเนินการอนุรักษ์ โดยเสริมความมั่นคงด้วยการเพิ่มเสาและฐานรากเพื่อรับน้ำหนักโครงหลังคา และตัดความชื้นที่ผนัง ตลอดจนปรับซ่อมอาคารให้มีความมั่นคงยืนยาวต่อไปได้” โดยข่าวล่าสุดได้ยืนยันว่าโครงสร้างโบสถ์เก่าหลังนี้ยังสามารถต้านทานแรงแผ่นดินไหวขนาด 6.7 ริกเตอร์ที่มีศูนย์กลางอยู่ในพม่า เมื่อ 24 มีนาคม ที่เพิ่งผ่านไปได้อย่างมั่นคง โดยปรากฏความเสียหายเพียงรอยร้าวของผิวปูนใหม่ที่กระเทาะจากการซ่อมแซมผิดวิธีในอดีตเท่านั้น

 

เหตุการณ์ทำนองนี้เกิดขึ้นกับโบราณสถานในประเทศไทยซ้ำแล้วซ้ำเล่า จนแทบเป็นเรื่องปกติธรรมดา หากแต่เสียงแห่งการคัดค้านเรื่องนี้อาจกว้างขวางมากกว่ากรณีอื่น ๆ ด้วยความก้าวหน้าของการสื่อสาร เมื่อบวกกับสำนึกสาธารณะของชาวเชียงรายที่มีต่อมรดกทางวัฒนธรรมในพื้นที่สูง ภาพของความขัดแย้งทางความคิดจึงค่อนข้างเป็นรูปธรรม จนถึงขั้นถกเถียงกันในเว็บบอร์ดสาธารณะ ในฐานะคนนอกซึ่งเกี่ยวข้องกับมรดกสถาปัตยกรรมประเภทศาสนสถานอยู่บ้าง จึงขอยกเรื่องนี้ขึ้นมาเขียนถึงอีกครั้ง มิใช่ด้วยเจตนาจะลบหลู่ผู้มีอำนาจตัดสินใจในการรื้อถอนโบสถ์หลังนี้ หากแต่เพื่อแบ่งปันประสบการณ์ เผื่อไว้เป็นข้อคิดสำหรับสังคมในกรณีเช่นเดียวกันนี้บ้างต่อไป

หากไม่เห็นคุณค่า..ก็ไม่รู้ว่าจะรักษาอะไร ? 

การที่ใครสักคนตัดสินใจที่จะรื้ออะไรทิ้งไป นั่นย่อมหมายความว่าสิ่งนั้นไม่มีคุณค่าสำหรับเขาอีกต่อไปแล้ว แต่ปัญหาคลาสสิคของความขัดแย้งโดยทั่วไป มักอยู่ตรงที่คุณค่าในมุมมองของแต่ละคนไม่เหมือนกันนั่นเอง

ในวรรณกรรมเยาวชนเรื่องเจ้าชายน้อย (Le Petit Prince by Antoine de Saint-Exupéry) ฉบับแปลโดย พงาพันธุ์ จะพบถ้อยคำเสียดสีถึงความนิยมในปริมาณมากกว่าคุณค่าด้านอื่น ๆ ของบรรดาผู้ใหญ่ใจความว่า 

…พวกผู้ใหญ่ชอบตัวเลขกันนัก คราวใดที่คุณคุยถึงเพื่อนใหม่สักคนให้ฟังพวกเขาจะไม่มีวันถามถึงแก่นแท้ของเพื่อนคนนั้นหรอก ไม่มีทางถามว่า “น้ำเสียงของเขาเป็นอย่างไร เขาชอบเล่นเกมอะไร หรือเขาสะสมผีเสื้อหรือเปล่า” หากแต่จะถามคุณว่า “เพื่อนของคุณอายุเท่าไหร่ มีพี่น้องกี่คน เขาหนักกี่กิโล หรือคุณพ่อเขามีรายได้เท่าไหร่” เพียงเท่านี้ พวกผู้ใหญ่ก็คิดว่าได้รู้จักเพื่อนคนนั้นของคุณดีแล้ว และถ้าเผื่อคุณบอกพวกเขาว่า “ฉันไปเห็นบ้านสวย ก่อด้วยอิฐสีชมพูหลังหนึ่งมาล่ะ มีดอกเจราเนียมประดับตามหน้าต่าง แล้วก็มีนกพิราบเกาะอยู่บนหลังคาตั้งหลายตัว” พวกผู้ใหญ่จะไม่มีทางนึกภาพบ้านดังกล่าวออกเลย เราต้องบอกว่า “ฉันไปเห็นบ้านมาหลังหนึ่ง ราคาเป็นแสนฟรังก์แน่ะ” คราวนี่แหละ พวกเขาก็จะพากันฮือฮาขึ้นว่า “…โอ้โฮ บ้านนั้นสวยจัง”…

ไม่มีใครปฏิเสธได้ว่าโบสถ์คริสตจักรที่ 1 เวียง เชียงรายนี้ มีคุณค่าต่อผู้คนทั้งชาวคริสเตียน และชาวเชียงราย มาตลอด 97 ปี ไม่มุมใดก็มุมหนึ่ง เช่นเดียวกับที่เจ้าชายน้อยมีความรู้สึกต่อสิ่งที่พึงใจ แต่ก็แน่นอนว่าคุณค่าเชิงปริมาณเป็นสิ่งที่ง่ายในการจับต้องกว่าคุณค่าทางจิตใจ และใช้ได้เสมอในการตัดสินใจที่ต้องชี้ชัดเด็ดขาด เช่นการเปรียบเทียบว่ามูลค่าในการซ่อมแซมกับการสร้างใหม่มักสูสีกัน หรือบางทีการซ่อมแซมอาจแพงกว่าเสียด้วยซ้ำ แต่ผู้ที่เชื่อถือในปริมาณก็ต้องไม่ลืมรวมเรื่องคุณค่าโดยอายุเข้าไปด้วย พูดง่าย ๆ คือหากอาคารสร้างใหม่จะมีคุณค่าโดยอายุเท่ากับอาคารเดิมก็ต้องใช้เวลาอย่างน้อย 97 ปีเท่ากัน ซึ่งนั่นยังอาจไม่ใช่สาระสำคัญเท่ากับคุณค่าที่จะสูญเสียไปตลอดกาล นั่นคือคุณค่าในฐานะประจักษ์พยานทางหลักฐานชิ้นสำคัญของคริสตจักรที่ 1 เวียง เชียงราย ซึ่งถูกใช้เป็นสักการะสถานที่มั่นคง หรือพระวิหารแห่งแรกสำหรับคริสตชนในจังหวัดเชียงราย มาตั้งแต่ ปี ค.ศ. 1914 และกำลังจะมีอายุครบ 100 ปีในอีก 3 ปีข้างหน้า

 

คุณค่าของโบสถ์คริสตจักรที่ 1 เวียง เชียงราย

ตามประวัติโบสถ์คริสตจักรที่ 1 เวียง เชียงรายหลังนี้ สร้างด้วยเงินบริจาคของคณะเพรสไบทีเรียนมิชชั่น แห่งสหรัฐอเมริกาบนที่ดินบริเวณประตูสลี ใช้เวลาในการปรับพื้นที่เตรียมการและก่อสร้างราว 4 ปี จึงแล้วเสร็จสมบูรณ์ใน ค.ศ. 1914 ผู้อำนวยการสร้างโบสถ์หลังนี้คือนายแพทย์วิลเลี่ยม เอ. บริกส์ (William A. Briggs) มิชชันนารีคนสำคัญที่ทำประโยชน์ให้แก่เมืองเชียงรายมากมาย อาทิเช่น การก่อสร้างอาคารโรงพยาบาลโอเวอร์บรุ๊ค โรงเรียนและบ้านพักมิชชันนารี ตลอดจนศาลากลางและเรือนจำประจำจังหวัดเชียงราย ซึ่งหากพิจารณารายชื่อผู้เกี่ยวข้องท่านอื่น ๆ ที่ถูกบันทึกไว้อย่างละเอียดตั้งแต่หัวหน้าควบคุมงานก่อสร้างไปจนถึงลูกมือช่างปูน ก็อาจพบได้ว่าชั้นลูกหลานของหลายท่านที่ถูกระบุชื่อไว้ ยังคงมีส่วนร่วมดูแลคริสตจักรแห่งนี้เสมอมา หลังจากบรรพบุรุษได้อุทิศแรงกายแรงใจในการก่อสร้างโบสถ์หลังนี้ขึ้นมาด้วยความอุตสาหะ 

โบสถ์หลังนี้ได้รับการบูรณะครั้งใหญ่เมื่อสิ้นสุดมหาสงครามเอเซียบูรพา (สงครามโลกครั้งที่ 2) ราวปี ค.ศ. 1946 หลังชำรุดทรุดโทรมเนื่องจากถูกยึดใช้เป็นส่วนหนึ่งของเขตทหารที่มาตั้งมั่นอยู่ในเมืองเชียงราย และพวกมิชชันนารีจำต้องออกนอกประเทศไทย เหตุการณ์ช่วงสงครามนั้นนับเป็นเวลายากลำบากสำหรับเหล่าคริสเตียนในการหาพื้นที่สำหรับนมัสการพระผู้เป็นเจ้า ด้วยต้องคอยหลบซ่อนกระทำการตามบ้านพักของสมาชิก เพราะทางการเข้มงวดเรื่องการประชุม เพื่อป้องกันการก่อเหตุร้ายและจารกรรม เมื่อเสร็จสงครามจึงยินดีกันยิ่งนักที่ได้กลับมาใช้โบสถ์นี้เป็นที่นมัสการอีกครั้ง จึงได้ร่วมใจกันบริจาคเพื่อการบูรณะจนได้ยอดเงินบริจาคที่มากที่สุดในเวลานั้น

 

 

ลักษณะสถาปัตยกรรมของโบสถ์คริสตจักรที่ 1 เวียง เชียงราย

โบสถ์นี้มีแผนผังอาคารเป็นรูปกางเขน (Latin Cross) แบ่งเป็นการใช้งานเป็น 3 ส่วน ได้แก่ส่วนห้องโถงหลัก (Nave) สำหรับประกอบพิธีกรรมมีความยาวตลอดทางเข้าด้านหน้าถึงแท่นบูชา (Altar) ส่วนปีกทั้งสองข้างของอาคาร (Transept) ทำเป็นชั้นลอย ที่ใต้แนวพื้นชั้นลอยนี้ทำอาเขต (Arcade) เป็นซุ้มโค้งก่ออิฐถือปูนข้างละ 3 ซุ้ม ทำหน้าที่ช่วยถ่ายน้ำหนักพื้นชั้นลอยลงสู่ฐานอาคาร ซึ่งรับกันดีกับซุ้มโค้งของช่องแสงเหนือประตูและหน้าต่างของอาคาร ส่วนห้องท้ายโบสถ์ซึ่งมีหลังคาลดระดับต่ำกว่าห้องโถงหลักเคยใช้เป็นห้องเรียนพระคัมภีร์สำหรับเด็ก ๆ โครงสร้างของอาคารโดยทั่วไปเป็นระบบกำแพงรับน้ำหนัก (Bearing wall) ที่ก่อด้วยอิฐขนาดใหญ่กว่าอิฐปกติทั่วไป ที่เชิงผนังด้านซ้ายภายนอกอาคารติดแผ่นศิลาสลักหมายเลข 1914 ทั้งเลขไทยและอารบิค (หมายถึงปี ค.ศ. ที่สร้างโบสถ์นี้สำเร็จ) ที่มุขด้านหน้าและด้านข้างก่อเป็นเสาสี่เหลี่ยมขนาดใหญ่ 4 ต้นเพื่อรองรับแผงหน้าจั่วที่เป็นแผ่นไม้ตีซ้อนเกล็ด ตรงกลางของแผงหน้าจั่วทำช่องหน้าต่างปิดเปิดได้ และที่เหนือหลังคาทางเข้าด้านหน้ามีหอคอยโถงสี่เหลี่ยมสำหรับแขวนระฆังที่ใช้ประกอบพิธีกรรมของโบสถ์ หลังคาปัจจุบันเป็นโครงสร้างเหล็กมุงกระเบื้องว่าวซีเมนต์สีน้ำตาลแดง กลมกลืนกับสีน้ำตาลเข้มของแผ่นไม้ที่แผงหน้าจั่ว และตัดกับสีขาวของผนังปูนฉาบอย่างน่าดู โดยเฉพาะตรงกึ่งกลางด้านหน้าอาคารใต้หลังคาปีกนก มีป้ายในกรอบไม้ระบุชื่อคริสตจักรที่ 1 เวียง เชียงราย ด้วยตัวอักษรแบบเก่าพร้อมสัญลักษณ์กางเขนสีแดงบนพื้นขาว ให้ความรู้สึกสง่างามแบบเรียบง่าย
โบสถ์นี้มีรูปแบบทางสถาปัตยกรรมและเทคนิคการก่อสร้างใกล้เคียงกับอาคารหลังแรกของโรงพยาบาลโอเวอร์บรุ๊ค (ปัจจุบันใช้เป็นอาคารอำนวยการ) ที่ได้รับอิทธิพลสถาปัตยกรรมแบบโคโลเนียล (Colonial Style) โดยต่างมีจุดเด่นที่หอระฆังด้านหน้าอาคาร (Bell Tower) ซึ่งไม่น่าแปลกใจเพราะที่โรงพยาบาลแห่งนี้ เคยถูกใช้เป็นที่นมัสการชั่วคราวในระยะแรกของการตั้งคริสตจักรก่อนที่จะมีการสร้างโบสถ์ และผู้อำนวยการก่อสร้างอาคารหลังแรกของโรงพยาบาลโอเวอร์บรุ๊คก็คือ นพ.วิลเลียม เอ. บริกส์ คนเดียวกันกับที่สร้างโบสถ์นั่นเอง