สภาสถาปนิกออกระเบียบใบอนุญาตระดับภาคีสถาปนิกพิเศษ

สภาสถาปนิกออกระเบียบใบอนุญาตระดับภาคีสถาปนิกพิเศษ
5 ก.ค. 2564

ตามที่สภาสถาปนิกได้ออก ข้อบังคับสภาสถาปนิกว่าด้วยคุณสมบัติของผู้ประกอบวิชาชีพสถาปัตยกรรมควบคุมแต่ละระดับ การออกใบอนุญาต การต่อใบอนุญาต อายุใบต่ออนุญาต การออกใบแทนใบอนุญาต และการออกหลักฐานรับรองการได้รับใบอนุญาต (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2561 ซึ่งได้กำหนดให้มีใบอนุญาตระดับภาคีสถาปนิกพิเศษ สำหรับผู้ปฏิบัติงานที่เกี่ยวข้องกับสถาปัตยกรรมที่มีความรู้ความชำนาญและประสบการณ์ในงานด้านนั้นๆ เฉพาะงานชนิดหนึ่งชนิดใด ตามที่ระเบียบคณะกรรมการสภาสถาปนิกกำหนด บัดนี้ สภาสถาปนิกได้ออก “ระเบียบคณะกรรมการสภาสถาปนิก ว่าด้วยการออกใบอนุญาตเป็นผู้ประกอบวิชาชีพสถาปัตยกรรมควบคุมระดับภาคีสถาปนิกพิเศษ กรณีผู้ปฏิบัติงานที่เกี่ยวข้องกับสถาปัตยกรรมที่มีความรู้ความชำนาญและประสบการณ์ในงานด้านนั้นๆ เฉพาะงานชนิดหนึ่งชนิดใด พ.ศ. 2564” ประกาศในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม 2564

ระเบียบคณะกรรมการสภาสถาปนิกฉบับนี้เปิดโอกาสให้มีการขอรับใบอนุญาตประกอบวิชาชีพสถาปัตยกรรมควบคุมในระดับภาคีสถาปนิกพิเศษประเภท (ค) เพื่อประกอบวิชาชีพในเฉพาะชนิดงานใดชนิดงานหนึ่ง ซึ่งจะเป็นประโยชน์สำหรับผู้ที่มีความรู้ความชำนาญในชนิดงานหนึ่ง แต่ไม่สามารถเข้าสู่วิชาชีพตามเส้นทางปกติได้ซึ่งอาจจะเนื่องมาจากคุณวุฒิทางการศึกษาและหรือประสบการณ์การทำงานที่จำกัดเฉพาะชนิดงาน

ผู้ที่จะขอรับใบอนุญาตระดับภาคีสถาปนิกพิเศษ จะต้องมีความรู้และประสบการณ์ในชนิดงานและลักษณะงานที่ยื่นคำขอ (ดูรายละเอียดในข้อ 5) ซึ่งได้เปิดกว้าง มีตั้งแต่วุฒิการศึกษาระดับปริญญาตรีในสาขาสถาปัตยกรรมศาสตร์หรือเทียบเท่า และมีผลงานและประสบการณ์ไม่น้อยกว่า 2 ปี ไปจนถึง มีวุฒิต่ำกว่าระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) และมีผลงานและประสบการณ์ไม่น้อยกว่า 9 ปี ซึ่งหมายความว่า ผู้ขอรับใบอนุญาตฯ อาจจบการศึกษาในคุณวุฒิที่สภาสถาปนิกไม่ได้รับรองก็ได้ หรือแม้แต่มีคุณวุฒิต่ำกว่าปริญญาตรีโดยมีประสบการณ์มากขึ้น จนแม้แต่มีวุฒิต่ำกว่ากว่าระดับ ปวช. แต่มีประสบการณ์มากก็อาจขอรับใบอนุญาตได้เช่นกัน

ผู้ที่จะขอรับใบอนุญาตระดับภาคีสถาปนิกพิเศษจะต้องสมัครเป็นสมาชิกสามัญหรือสมาชิกวิสามัญของสภาสถาปนิกก่อน ซึ่งแต่เดิมมีข้อจำกัดสำหรับผู้ที่ไม่มีคุณวุฒิที่สภาสถาปนิกรับรอง แต่ปัจจุบันได้มีการออก ข้อบังคับสภาสถาปนิกว่าด้วยการรับสมัครเป็นสมาชิกของสภาสถาปนิก (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2564 ซึ่งการปรับปรุงแก้ไขอย่างหนึ่งคือ ได้เปิดโอกาสให้ผู้มีสัญชาติไทยที่มีคุณวุฒิที่สภาสถาปนิกไม่ได้รับรองหรือเป็นผู้ปฏิบัติงานที่เกี่ยวข้องกับวิชาชีพสถาปัตยกรรมมาแล้วไม่น้อยกว่า 8 ปี สามารถสมัครเป็นสมาชิกวิสามัญของสภาสถาปนิกได้

ในการยื่นขอรับใบอนุญาตระดับภาคีสถาปนิกพิเศษนี้ ผู้ขอรับใบอนุญาตสามารถยื่นขอได้ในสาขาที่ผู้ขอมีความรู้ความชำนาญครั้งละไม่เกินหนึ่งชนิดงาน และจะต้องระบุประเภท ขนาด และลักษณะงานที่ผู้ขอมีความรู้ความชำนาญและต้องการประกอบวิชาชีพ โดยต้องยื่นผลงานในการปฏิบัติงานที่เกี่ยวข้องกับสถาปัตยกรรมของผู้ขอ โดยมีสามัญสถาปนิกขึ้นไปในสาขาเดียวกับที่ขอรับใบอนุญาตลงนามรับรอง ในการระบุลักษณะงานที่ต้องการขอรับใบอนุญาต ระเบียบกำหนดให้ระบุเป็นพื้นที่ได้ไม่เกินสองเท่าของพื้นที่ของผลงานที่ใช้ยื่น ส่วนในการพิจารณาออกใบอนุญาต คณะกรรมการสามารถพิจารณาให้สิทธิในการประกอบวิชาชีพได้ตามลักษณะงานที่เห็นสมควร นอกจากการพิจารณาคุณภาพของผลงานแล้ว ระเบียบได้กำหนดเรื่องการทดสอบความรู้โดยวิธีสอบข้อเขียนและหรือวิธีสอบสัมภาษณ์ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับคณะอนุกรรมการที่คณะกรรมการสภาสถาปนิกแต่งตั้งให้เป็นผู้ดำเนินการพิจารณาผลงานและทดสอบความรู้ ความสามารถในการประกอบวิชาชีพของผู้ขอรับใบอนุญาต

ดาวน์โหลด: aa\bo64.pdf

ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
ปรับปรุงข้อบังคับว่าด้วยการรับสมัครเป็นสมาชิกของสภาสถาปนิก
ข้อบังคับสภาสถาปนิกใหม่ 4 ฉบับ

Facebook
Twitter
LinkedIn