มาตรฐานการติดตั้งเครื่อง AED

มาตรฐานการติดตั้งเครื่อง AED
30 พ.ย. 2564

ตามที่ได้มี กฎกระทรวง ฉบับที่ 69 (พ.ศ. 2564)ฯ ออกใช้บังคับ กฎกระทรวงฉบับนี้เป็นการแก้ไขเพิ่มเติม กฎกระทรวง ฉบับที่ 33 (พ.ศ. 2535) ออกตามความในพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 ซึ่งเป็นการควบคุมอาคารสูงและอาคารขนาดใหญ่พิเศษ และให้เริ่มใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 2 ธันวาคม 2564 เป็นต้นไป

ข้อกำหนดหนึ่งที่เพิ่มขึ้นคือ ข้อ 29/2 ซึ่งกำหนดให้อาคารสูงและอาคารขนาดใหญ่พิเศษที่เป็นอาคารสาธารณะต้องจัดให้มีพื้นที่หรือตำแหน่งเพื่อติดตั้งเครื่องฟื้นคืนคลื่นหัวใจด้วยไฟฟ้าแบบอัตโนมัติ หรือ AED (Automated External Defibrillator) ส่วนรายละเอียดของเครื่อง AED รวมถึงจำนวน ตำแหน่ง และระบบการติดตั้ง ให้เป็นไปตามมาตรฐานที่คณะกรรมการการแพทย์ฉุกเฉินประกาศกำหนด

บัดนี้ คณะกรรมการการแพทย์ฉุกเฉิน (กพฉ.) ได้มี “ประกาศคณะกรรมการการแพทย์ฉุกเฉิน เรื่อง มาตรฐานการปฏิบัติการฉุกเฉินในการช่วยชีวิตขั้นพื้นฐานนอกสถานพยาบาล พ.ศ. 2564” ออกมาแล้ว เพื่อให้เป็นการสอดคล้องกับข้อ 29/2 ของกฎกระทรวง ฉบับที่ 69 (พ.ศ. 2564)ฯ ดังกล่าว ให้มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 ธันวาคม 2564 เป็นต้นไป

ตามประกาศฉบับนี้ ได้กำหนดรายการละเอียดของเครื่องฟื้นคืนคลื่นหัวใจด้วยไฟฟ้าแบบอัตโนมัติ (AED) รายละเอียดของตำแหน่งและจำนวนการติดตั้ง เช่น ให้ติดตั้งอยู่ในจุดที่สังเกตได้ง่าย มองเห็นได้ในที่มืด สูงจากพื้นไม่เกิน 1.50 เมตร มีสัญลักษณ์ที่เป็นเครื่องหมายสากลในจุดที่ติดตั้งและขั้นตอนวิธีการช่วยเหลือฉุกเฉิน มีป้ายบอกทางไปยังจุดของตำแหน่งที่ติดตั้ง และคำนึงถึงการเข้าถึงและนำมาช่วยเหลือผู้ป่วยฉุกเฉินหัวใจหยุดเต้นได้ภายในระยะเวลา 4 นาที นับตั้งแต่พบผู้ป่วยหัวใจหยุดเต้น

นอกจากนั้น ยังกำหนดให้เจ้าของหรือผู้ครอบครองสถานที่พึงจัดให้มีระบบแสดงพิกัดจุดติดตั้งเครื่อง AED ที่เชื่อมกับหน่วยปฏิบัติการอำนวยการและต้องกำหนดแนวทางการประสานงาน การแจ้งเหตุ การรายงานไปยังหน่วยปฏิบัติการอำนวยการหรือสถานพยาบาล ในการขอคำแนะนำ การดูแลผู้ป่วย การนำส่งผู้ป่วย ได้อย่างปลอดภัยและทันท่วงที รวมถึงการฝึกซ้อมตามแนวทางที่กำหนดอย่างน้อยปีละหนึ่งครั้ง

ดาวน์โหลด: cba\mr\ba64-aed.pdf
ข่าวที่เกี่ยวข้อง: ปรับปรุงแก้ไขกฎกระทรวงควบคุมอาคารสูงและอาคารขนาดใหญ่พิเศษ

Facebook
Twitter
LinkedIn