กำหนดค่ามาตรฐานและวิธีการคำนวณในการออกแบบอาคารเพื่อการอนุรักษ์พลังงาน

กำหนดค่ามาตรฐานและวิธีการคำนวณในการออกแบบอาคารเพื่อการอนุรักษ์พลังงาน
24 ธ.ค. 2564 ปรับปรุง 18 ม.ค. 2565

ตามที่กระทรวงพลังงานได้ออกกฎกระทรวงกำหนดประเภท หรือขนาดของอาคาร และมาตรฐาน หลักเกณฑ์ และวิธีการในการออกแบบอาคารเพื่อการอนุรักษ์พลังงาน พ.ศ. 2563 เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2563 ซึ่งในกฎกระทรวงได้กำหนดให้ ค่ามาตรฐานต่างๆเป็นไปตามค่ามาตรฐานที่รัฐมนตรีประกาศกำหนด และให้การคำนวณในการออกแบบอาคารเพื่อการอนุรักษ์พลังงานเป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่รัฐมนตรีประกาศกำหนด

บัดนี้ กระทรวงพลังงานได้ออกประกาศกระทรวงพลังงาน 2 ฉบับ ได้แก่ “ประกาศกระทรวงพลังงาน เรื่อง กำหนดค่ามาตรฐานการออกแบบอาคารเพื่อการอนุรักษ์พลังงาน พ.ศ. 2564” และ “ประกาศกระทรวงพลังงาน เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการคำนวณ และการรับรองผลการตรวจประเมินการออกแบบอาคารเพื่อการอนุรักษ์พลังงานแต่ละระบบ การใช้พลังงานโดยรวมของอาคาร และการใช้พลังงานหมุนเวียนในระบบต่าง ๆ ของอาคาร พ.ศ. 2564” โดยประกาศฉบับแรกจะเป็นการยกเลิก ประกาศกระทรวงพลังงาน เรื่อง การกำหนดค่าสัมประสิทธิ์สมรรถนะขั้นต่ำ ค่าประสิทธิภาพการให้ความเย็น และค่าพลังไฟฟ้าต่อตันความเย็นของระบบปรับอากาศที่ติดตั้งใช้งานในอาคาร พ.ศ. 2552 และประกาศฉบับที่สองจะเป็นการยกเลิก ประกาศกระทรวงพลังงาน เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการคำนวณในการออกแบบอาคารแต่ละระบบ การใช้พลังงานโดยรวมของอาคาร และการใช้พลังงานหมุนเวียนในระบบต่าง ๆ ของอาคาร พ.ศ. 2552

สำหรับประกาศกระทรวงพลังงาน เรื่อง กำหนดค่ามาตรฐานการออกแบบอาคารเพื่อการอนุรักษ์พลังงาน พ.ศ. 2564 เป็นการกำหนด ค่าการถ่ายเทความร้อนรวมของระบบเปลือกอาคาร (overall thermal transfer value, OTTV) ค่าการถ่ายเทความร้อนรวมของหลังคาอาคาร (roof thermal transfer value, RTTV) และค่ากำลังไฟฟ้าส่องสว่างสูงสุด (lighting power density, LPD) ของอาคารประเภทต่างๆ ค่าประสิทธิภาพพลังงานของระบบปรับอากาศ และค่าประสิทธิภาพขั้นต่ำและค่าสัมประสิทธิ์สมรรถนะขั้นต่ำของอุปกรณ์ผลิตน้ำร้อน

ในส่วนของค่า OTTV และ RTTV เมื่อเทียบกับค่ามาตรฐานเดิมที่เคยกำหนดอยู่ใน กฎกระทรวงกำหนดประเภท หรือขนาดของอาคาร และมาตรฐาน หลักเกณฑ์ และวิธีการในการออกแบบอาคารเพื่อการอนุรักษ์พลังงาน พ.ศ. 2552 แล้ว ค่า OTTV ยังคงเป็นค่าเดิมคือ 30 วัตต์/ตร.ม. สำหรับโรงแรม สถานพยาบาล อาคารชุด 40 วัตต์/ตร.ม. สำหรับโรงมหรสพ สถานบริการ ห้างสรรพสินค้าหรือศูนย์การค้า อาคารชุมนุมคน และ 50 วัตต์/ตร.ม. สำหรับสถานศึกษา สำนักงานหรือที่ทำการ ส่วนค่า RTTV มีการปรับค่าลดลงกว่าเดิม (เข้มกว่าเดิม) ได้แก่ 6 วัตต์/ตร.ม. สำหรับโรงแรม สถานพยาบาล อาคารชุด (ค่าเดิม 10 วัตต์/ตร.ม.) 8 วัตต์/ตร.ม. สำหรับโรงมหรสพ สถานบริการ ห้างสรรพสินค้าหรือศูนย์การค้า อาคารชุมนุมคน (ค่าเดิม 12 วัตต์/ตร.ม.) และ 10 วัตต์/ตร.ม. สำหรับสถานศึกษา สำนักงานหรือที่ทำการ (ค่าเดิม 15 วัตต์/ตร.ม.)

ในส่วนของค่า LPD สำหรับโรงแรม สถานพยาบาล อาคารชุด ยังคงเดิม 12 วัตต์/ตร.ม. ส่วนอีกสองกลุ่มมีการปรับค่าลดลง (เข้มกว่าเดิม) ได้แก่ 11 วัตต์/ตร.ม. สำหรับโรงมหรสพ สถานบริการ ห้างสรรพสินค้าหรือศูนย์การค้า อาคารชุมนุมคน (ค่าเดิม 18 วัตต์/ตร.ม.) และ 10 วัตต์/ตร.ม. สำหรับสถานศึกษา สำนักงานหรือที่ทำการ (ค่าเดิม 14 วัตต์/ตร.ม.)

สำหรับค่าประสิทธิภาพพลังงานของระบบปรับอากาศแต่ละประเภทที่เป็นระบบปรับอากาศแบบอัดไอ มีการปรับปรุงค่ากำลังไฟฟ้าต่อตันความเย็นให้ละเอียดขึ้นและแตกต่างไปจากเดิม ส่วนที่เป็นระบบปรับอากาศแบบดูดกลืน กำหนดค่าสัมประสิทธิ์สมรรถนะขั้นต่ำไว้เท่าเดิม

ประกาศอีกฉบับหนึ่งคือ ประกาศกระทรวงพลังงาน เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการคำนวณ และการรับรองผลการตรวจประเมินการออกแบบอาคารเพื่อการอนุรักษ์พลังงานแต่ละระบบ การใช้พลังงานโดยรวมของอาคาร และการใช้พลังงานหมุนเวียนในระบบต่าง ๆ ของอาคาร พ.ศ. 2564 เมื่อเทียบกับฉบับเดิมปี 2552 แล้ว พบว่าโดยภาพรวมยังคงหลักเกณฑ์และวิธีการคำนวณเช่นเดิม แต่มีการปรับปรุงรูปประกอบให้ถูกต้องขึ้น และปรับปรุงสูตรและตารางค่าต่างๆ เช่น ในส่วนของการคำนวณค่า RTTV มีการกำหนดค่าความต้านทานความร้อนของช่องว่างอากาศเพิ่มขึ้นในกรณีความลาดเอียง 60 องศา (เดิมกำหนดถึง 45 องศา) การคำนวณค่าสัมประสิทธิ์สมรรถนะของระบบปรับอากาศมีรายละเอียดในการคำนวณมากขึ้น และการคำนวณการใช้พลังงานโดยรวมของอาคารยังปรับปรุงขึ้นให้สามารถลดปริมาณการใช้พลังงานลงจากการใช้พลังงานหมุนเวียนในระบบต่างๆ ของอาคารได้เพิ่มขึ้น โดยเพิ่มการคำนวณค่า HEE (ค่าพลังงานความร้อนหมุนเวียนเทียบเป็นพลังงานไฟฟ้า) และ ORE (ค่าการใช้พลังงานหมุนเวียนในรูปแบบอื่นๆ) ซึ่งเดิมมีเพียง PVE (ค่าพลังงานไฟฟ้าจากเซลล์แสงอาทิตย์) เท่านั้น นอกจากนั้น ในภาคผนวกซึ่งเป็นตารางค่าความแตกต่างอุณหภูมิเทียบเท่า (TDeq) ก็ได้แก้ไขค่าที่ตกหล่นและพิมพ์ผิดไว้หลายแห่งในประกาศฉบับเดิมแล้ว อย่างไรก็ตาม ในฉบับใหม่นี้ก็ยังมีความผิดพลาดอยู่ เท่าที่ตรวจพบ ในตารางที่ 1 ค่า TDeq สำหรับมุมเอียงของผนัง 90 องศา ทิศตะวันออกเฉียงใต้ สัมประสิทธิ์การดูดกลืนรังสีอาทิตย์ 0.7 และ 0.9 ค่าที่พิมพ์ไว้ 16.4 และ 19.7 ที่ถูกควรเป็น 15.0 และ 18.3 ตามลำดับ

นอกจากค่ามาตรฐานต่างๆ และหลักเกณฑ์วิธีการคำนวณแล้ว ประกาศฉบับนี้ยังกำหนดหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการรับรองผลการตรวจประเมินในการออกแบบอาคารเพื่อการอนุรักษ์พลังงานด้วย โดยกำหนดให้แสดงผลการประเมินด้วยโปรแกรมตรวจประเมินค่าอนุรักษ์พลังงานที่กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงานกำหนด และในการรับรองผลการตรวจประเมินฯ เจ้าของอาคารมีหน้าที่จัดทำรายงานผลการตรวจประเมินฯ ตามแบบ ออพ.๐๑ และจัดหาผู้ตรวจประเมินในการออกแบบก่อสร้างหรือดัดแปลงอาคาร จัดทำแบบรับรองผลการตรวจประเมินตามแบบ ออพ.๐๒ ท้ายประกาศกระทรวง

ข่าวที่เกี่ยวข้อง: กฎกระทรวง การออกแบบอาคารเพื่อการอนุรักษ์พลังงาน

ดาวน์โหลด:
1. ประกาศกระทรวงพลังงาน เรื่อง กำหนดค่ามาตรฐานการออกแบบอาคารเพื่อการอนุรักษ์พลังงาน พ.ศ. 2564
2. ประกาศกระทรวงพลังงาน เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการคำนวณ และการรับรองผลการตรวจประเมินการออกแบบอาคารเพื่อการอนุรักษ์พลังงานแต่ละระบบ การใช้พลังงานโดยรวมของอาคาร และการใช้พลังงานหมุนเวียนในระบบต่าง ๆ ของอาคาร พ.ศ. 2564

 

Facebook
Twitter
LinkedIn