“ออกแบบอาคารแล้วอย่าลืมออกแบบเมืองที่เราอยู่ด้วย”
นี่คือเสียงสะท้อนบางส่วนจาก CLOUD-FLOOR บริษัทสถาปนิกที่ให้ความสำคัญกับการออกแบบและพัฒนาพื้นที่สาธารณะ หลายคนอาจคุ้นหน้าคุ้นตากับพวกเขาไม่น้อย หากเราพูดถึงผลงาน #ป้ายรถเมล์ในฝัน จากกิจกรรม Workshop ของ ASA CAN Ten for Ninety 2017 ไอเดียออกแบบป้ายรถเมล์สารพัดประโยชน์ที่สอดรับไปกับวัฒนธรรมและวิถีชีวิตของคนไทย ร่วมพูดคุยเพื่อค้นหาพลังในการออกแบบเมืองของสถาปนิกหน้าใหม่ไฟแรงกลุ่มนี้ในวารสารอาษาครู ฉบับ 11
ช่วยเล่าถึงการก่อตั้งหรือจุดเริ่มต้นของออฟฟิศ
บริษัท คลาวด์ฟลอร์ จำกัด ถูกจัดตั้งขึ้นจากความตั้งใจในการใช้ความรู้และความสามารถในการออกแบบ เพื่อพัฒนาพื้นที่สาธารณะและเมือง โดยมีเป้าหมายเพื่อเปลี่ยนแปลงและสร้างสรรค์องค์ประกอบทางกายภาพของเมือง ที่ส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ให้ความสำคัญกับคนและสิ่งแวดล้อมเป็นหัวใจหลัก จุดเริ่มต้นคือการที่ได้รับแรงบันดาลใจจากการทำงานที่ Studio Schwittala ที่เมืองเบอร์ลิน ซึ่งให้ความสนใจกับเรื่องการออกแบบเมืองและการอยู่อาศัยในอนาคต
แนวคิด/สิ่งที่สนใจหลักในการออกแบบ และหลักทำงานของออฟฟิศ
การใช้นวัตกรรมพัฒนาพื้นที่สาธารณะและเมืองด้วยการออกแบบอย่างมีกระบวนการ โดยไม่จำกัดประเภทของผลลัพธ์ซึ่งเป็นไปได้ทั้งสถาปัตยกรรม ศิลปะ ผลิตภัณฑ์ งานบราการหรืองานสื่อประเภทต่างๆ
ในการทำงานที่ผ่านมามีโครงการไหนหรือเรื่อง อะไรที่ประทับใจที่อยากเล่าให้เราฟังบ้าง
กิจกรรม workshop ร่วมกับ ASA CAN Ten for Ninety 2017 ที่ทำการทดลองสร้างป้ายรถเมล์ในฝัน โดยสิ่งที่ได้ออกแบบไปนั้น คือการจัดหาสิ่งของที่คิดว่าจำเป็นและไม่จำเป็นในการรอคอยรถโดยสาร ในสภาพแวดลอ้มและบริบทแบบไทยๆ ได้แก่ ยาดม ลูกอม ผ้าปิดปาก น้ำเปล่า พัดลม มือ วิทยุ และเก้าอี้แบบนั่งสบาย เป็นต้น เราได้ รับรอยยิ้มและความประทับใจจากผู้ใช้งาน รวมถึงได้รับกำลังใจจากผู้คนที่ผ่านไปมาที่อยากสนับสนุนและสานต่อโครงการ
ความยาก ปัญหา อุปสรรคต่างๆ ที่เจอในการทำออฟฟิศตนเอง และแก้ปัญหาหรือผ่านพ้นมันมาได้อย่างไร
คนอื่นมักไม่เข้าใจว่าทำงานอะไร จะออกแบบและเปลี่ยนแปลงเมืองได้อย่างไร สิ่งที่ทำคือการพยายามทำความเข้าใจและอดทนต่อความตั้งใจนี้ ต้องเตรียมตัว/ปรับตัวต่อกระแสความเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็วต่างๆ และความท้าทายใหม่ๆ ในยุคสมัยปัจจุบันอย่างไรบ้าง หาความรู้เพิ่มเติมให้มากขึ้น เปิดใจรับศาสตร์และเทคโนโลยีต่างๆ ที่เข้ามาเพิ่มขึ้น และศึกษาความต้องการของคนในส่วนที่เปลี่ยนแปลงและไม่เปลี่ยนแปลง
มองว่าสถาปนิกรุ่นใหม่และวงการปฏิบัติวิชาชีพเป็นอย่างไรบ้าง มีความแตกต่างกันไหมเมื่อ 5 หรือ 10 ปีก่อนหรือไม่ อย่างไร หรือมีพัฒนาการอย่างไร
ส่วนใหญ่ยังคงเหมือนเดิม แต่สิ่งที่เห็นการเปลี่ยนแปลงคือคนให้ความสนใจเรื่องการออกแบบเมืองมากขึ้น
อยากฝากข้อคิดเห็นหรือข้อเสนอแนะอะไรให้สถาปนิกรุ่นใหม่ ทั้งกลุ่มที่เป็นพนักงานอยู่ในออฟฟิศต่างๆ หรือทั้งกลุ่มที่อยากจะเปิดออฟฟิศเป็นของตัวเอง
“ออกแบบอาคารแล้วอย่าลืมออกแบบเมืองที่เราอยู่ด้วย” โดยการออกแบบเมืองคงต้องอาศัย 3 สิ่ง คือการออกกฎระเบียบการออกแบบกายภาพ และการสร้างทัศนคติ อยากให้ทำในสิ่งที่เราช่วยกันทำได้ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป
Founded in: 2014
Founder: Donlaporn Chanachai and Nattapong Phattanagosai
Number of staff: 4
www.cloud-floor.com