อาจารย์นันทพล จั่นเงิน

ประธานจัดงานสถาปนิก’60

[siteorigin_widget class=”SiteOrigin_Widgets_ImageGrid_Widget”][/siteorigin_widget]

ASA CREW: ในฐานะประธานจัดงานงานสถาปนิก’60 อยากให้เล่าถึงแนวคิดหลักของงานในปีนี้ ทำไมต้อง “บ้าน บ้าน” Reconsidering Dwelling

อ.นันทพล : เรามองว่า ‘บ้าน’ เป็นหน่วยย่อยของสถาปัตยกรรมที่สำคัญที่สุดของคนทั่วไป การสร้างหรือเปลี่ยนแปลงอะไร การเริ่มจากหน่วยเล็กๆ อย่างบ้านที่ออกแบบมาดี วางแผนดี จะส่งผลให้ภาพรวมหรือชุมชนระดับเมืองออกมาดีมีคุณภาพ ในขณะเดียวกัน ‘บ้าน’ น่าจะเป็นเครื่องมือทางสถาปัตยกรรมที่ดีที่สุดที่สถาปนิกจะสามารถสื่อสารกับประชาชนคนทั่วไปได้ ซึ่งตรงนี้เป็นนโยบายของสมาคมสถาปนิกสยาม ในพระราชูปถัมภ์ เราอยากให้ประชาชนรู้จักและเข้าใจบทบาทของสถาปนิกมากขึ้น โดยมีเครื่องมือคือ ‘บ้าน’ ที่จะทำให้ประชาชนและสถาปนิกได้มาเจอกัน

นอกจากนั้นเรามองว่า ‘บ้าน’ น่าจะทำให้สถาปนิกรุ่นใหม่ได้มีส่วนร่วมกับสมาคมฯ มากขึ้น เพราะสถาปนิกแทบทุกคน ได้โครงการแรกๆ ของการทำงานส่วนใหญ่เริ่มต้นจากการออกแบบบ้าน

ส่วนที่มาของชื่อ ‘บ้าน บ้าน’ เราอยากได้ชื่อแบบไทยๆ เป็นคำซ้ำที่ทำให้เกิดการตีความได้หลายอย่าง นอกจากหมายถึงบ้านแล้ว อาจหมายถึง บ้านหลายๆ หลัง สื่อถึงชุมชน หรือการเล่นกับคำซ้ำที่เราคุ้นเคยก็อาจจะหมายถึง ความสบายๆ ง่ายๆ ไม่ได้ปรุงแต่งอะไรมาก แต่อยู่ได้มีความสุข และทุกแนวความคิดที่มารวมตัวกันที่จะพูดคุยถึงเรื่อง ‘บ้าน’ มันก็จะเกิดการคิดทบทวน เป็นที่มาของชื่อภาษาอังกฤษที่เราใช้ คือ ‘Reconsi- dering Dwelling’ คนที่มางานนี้จะได้มีโอกาสคิดทบทวนเรื่องบ้านผ่านแนวคิดและผลงานต่างๆ ที่จัดแสดงในปีนี้

 

ASA CREW: อะไรเป็นเหตุผลที่ทำให้เราต้องกลับมาคิดทบทวนเรื่อง ‘บ้าน’

อ.นันทพล : บ้านเป็นจุดเริ่มต้นแรกๆ ของชีวิต การให้ความสำคัญและการกลับมาคิดทบทวน ทั้งในฐานะผู้ออกแบบและ เจ้าของบ้าน ทั้งสถาปนิกและผู้ที่ต้องการบ้าน ได้มีโอกาสแลกเปลี่ยน ไอเดียกัน การเอาแนวคิดหลายๆ แนวคิดมาขบคิด อาจนำไปสู่การนำเสนอใหม่ๆ ที่เป็นประโยชน์มากขึ้น ไม่เพียงแต่เราต้องทบทวนวิธีคิดในส่วนของการออกแบบบ้านเท่านั้น เรายังต้องมองถึงบริบทของสังคมด้วย เช่น ถ้าบ้านทุกหลังปลูกต้นไม้บ้านละ 1 ต้น ใต้ต้นไม้บ้านเราก็เย็น ทั้งหมู่บ้านก็จะมีความร่มรื่นจากต้นไม้ของแต่ละบ้าน อุณหภูมิใต้ต้นไม้ต่างจากกลางแจ้ง 2-3 องศา มองในเชิงความยั่งยืนของหมู่บ้าน ก็จะช่วยประหยัดพลังงาน การเข้าใจการออกแบบที่อยู่อาศัยมากขึ้น จะช่วยให้วิธีคิดต่อสังคมเปลี่ยนไป ยกตัวอย่างง่ายๆ เรามีที่ดินแบบคล้ายๆ กันกับพื้นที่ข้างๆ เรามาออกแบบร่วมกัน เปิดพื้นที่สีเขียวร่วมกัน ถ้าสนิทกันมากๆ อาจจะไม่ต้องมีรั้วก็ได้ ผมมองว่าแนวคิดเหล่านี้จะเป็นส่วนหนึ่งในอีกหลายๆ แนวคิดที่จะเกิดขึ้นจากการที่เรากลับมาคิดทบทวนเรื่องบ้านและที่อยู่อาศัย ที่เราจะได้เห็นในงานสถาปนิกครั้งนี้

 

ASA CREW: งานครั้งนี้เตรียมอะไรไว้ให้กับผู้เข้าชมงานบ้าง

อ.นันทพล : จุดเริ่มต้นของงาน เราอยากให้ทุกคนได้ร่วมน้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ที่ได้ทรงประกอบพระราชกรณียกิจต่างๆ เพื่ออาณาประชาราษฎร์ และได้เห็นถึงพระอัจฉริยภาพด้านสถาปัตยกรรมของพระองค์ท่าน โดยจัดทำขึ้นเป็นนิทรรศการในหลวง รัชกาลที่ 9 โดยแบ่งเป็น 2 นิทรรศการหลัก ได้แก่ นิทรรศการสถาปนิกแห่งแผ่นดิน ‘บ้าน’ บ้านในพระราชนิยม และนิทรรศการน้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณ เรานำเสนอเป็นรูปแบบมัลติมีเดียในนิทรรศการต่างๆ และมีการนำเสนอเนื้อหาบ้านที่พระองค์ทรงประทับทรงงานในโครงการชั่งหัวมัน ซึ่งเป็นแนวคิดที่อยู่อาศัยตามปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง

ส่วนนิทรรศการอื่นๆ แบ่งออกเป็น 3 ส่วนหลักๆ คือ นิทรรศการบ้าน (Dwellings) พูดถึงรูปแบบของบ้านต่างๆ บ้านเดี่ยว ทาวน์เฮาส์ คอนโดมิเนียม รวมไปถึงความเป็นบ้านในมิติต่างๆ เช่น บ้านเรือนแพ บ้านของคนไร้บ้าน ส่วนที่ 2 คือ นิทรรศการองค์ประกอบบ้าน (Dwelling Elements) เช่น ผนัง ประตู หน้าต่าง บันได ไปจนถึงเฟอร์นิเจอร์ ส่วนเล็กๆ ที่ประกอบกันเป็นบ้าน และส่วนที่ 3 คือ นิทรรศการพื้นที่นอกบ้าน (Dwelling Surroundings) บริบทต่างๆ นอกบ้าน นอกจากตัวบ้านจนถึงรั้ว ไปจนถึงนอกรั้วบ้านระหว่างบ้านแต่ละหลังเป็นระดับชุมชน อันนี้เราอยากเล่าให้คนทั่วไปเข้าใจแนวคิด ‘บ้าน บ้าน Reconsidering Dwelling’ ซึ่งเป็นแนวคิดหลักของงานปีนี้

[siteorigin_widget class=”SiteOrigin_Widgets_ImageGrid_Widget”][/siteorigin_widget]

ASA CREW: ทราบมาว่างานปีนี้มีการออกแบบการจัดงานให้เกิดการนำกลับไปใช้ต่อ เพื่อให้เกิดประโยชน์กับสังคมได้อีกด้วย

อ.นันทพล : เรามีต้นไม้ยืนต้นที่นำมาติดตั้งในงาน 50 ต้น เราจะแบ่งเป็น 2 ส่วน คือหลังงานจบเราจะมีกิจกรรม ‘ปลูกต้นไม้ เพื่อบ้าน เพื่อเมือง’ โดย ‘เพื่อบ้าน’ จะนำต้นไม้ 25 ต้นกลับไปปลูกที่ สมาคมฯ บ้านของเรา ตามนโยบายของท่านอาจารย์ อัชชพล ดุสิตนานนท์ นายกสมาคมฯ ที่ต้องการเพิ่มพื้นที่สีเขียว โดยจะนำไปปลูกในบริเวณลานจอดรถของสมาคมฯ ทำให้ลานจอดรถสามารถใช้พื้นที่สันทนาการเพื่อออกกำลังกาย และทำกิจกรรมต่างๆ ได้ในอนาคตจะมีการเปิดพื้นที่ให้ประชาชนทั่วไปเข้ามาใช้ประโยชน์ได้ด้วย ส่วน ‘เพื่อเมือง’ เราร่วมมือกับกรุงเทพมหานคร และชุมชนบางกระเจ้า โดยจะนำต้นไม้อีก 25 ต้นไปปลูกที่สวนรถไฟ ซึ่งถือเป็นปอดของกรุงเทพฯ ช่วยทำให้เมืองมีพื้นที่สีเขียวเพิ่มขึ้น และบริเวณลานกิจกรรมในงานยังมีการแจกต้นกล้าจากกรมป่าไม้วันละ 999 ต้น ให้กับประชาชนทั่วไปได้นำไปปลูกกัน เราอยากให้ การปลูกต้นไม้เป็นจุดเริ่มต้นของการสร้างบริบทรอบบ้านและชุมชนให้น่าอยู่มากขึ้น

ASA CREW: ความตั้งใจในการจัดงานปีนี้ให้ความสำคัญในการสื่อสารกับประชาชนทั่วไปมากเป็นพิเศษ ผู้เข้าชมจะได้อะไรเพิ่มเติมจากการไปดูงานนี้อีกบ้าง

อ.นันทพล : ประชาชนจะเข้าใจความสำคัญของที่อยู่อาศัยที่มีความสัมพันธ์กันทุกส่วน ตั้งแต่ในบ้านออกไปนอกบ้าน ไปถึงชุมชนโดยภาพรวม เห็นภาพทั้งหมดตามแนวคิดหลัก ‘บ้าน บ้าน’ ที่เราตั้งไว้
นอกจากนี้ผู้ที่มีความสนใจยังสามารถเข้าฟังบรรยาย ASA Forum งานสัมมนาวิชาการที่เราเชิญนักออกแบบสถาปนิกชั้นนำทั้งในและต่างประเทศมาให้ความรู้ แลกเปลี่ยนประสบการณ์การทำงาน และยังมีพื้นที่อีกมากมายในอาคารจัดแสดงสินค้าที่สามารถเลือกซื้อสินค้า วัสดุการก่อสร้างจากแบรนด์สินค้าชั้นนำต่างๆ ได้อีกด้วย หรือถ้าสนใจแบบบ้านไหนสามารถสแกน QR Code เพื่อทราบข้อมูลต่างๆ ของสถาปนิกผู้ออกแบบ และข้อมูลการติดต่อได้เลย บริเวณลานกิจกรรมก็มีกิจกรรมอบรม พูดคุยกับสถาปนิก มีเวิร์คช้อปฟรี เป็นงานที่สร้างความสัมพันธ์ระหว่างสถาปนิกกับประชาชนได้ใกล้ชิดกันมากขึ้น