กรมโยธาฯตอบข้อหารือกฎกระทรวงกำหนดสิ่งอำนวยความสะดวกในอาคารฯ

กรมโยธาฯตอบข้อหารือกฎกระทรวงกำหนดสิ่งอำนวยความสะดวกในอาคารฯ
10 พ.ค. 2564

ตามที่ได้มีการปรับปรุงแก้ไข กฎกระทรวงกำหนดสิ่งอำนวยความสะดวกในอาคารสำหรับผู้พิการหรือทุพพลภาพ และคนชรา พ.ศ. 2548 โดย กฎกระทรวงกำหนดสิ่งอำนวยความสะดวกในอาคารฯ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2564 ซึ่งออกใช้บังคับเมื่อเดือนมีนาคม 2564 เนื่องจากกฎกระทรวงฉบับแก้ไขนี้มีข้อกำหนดที่อาจจะไม่ได้บัญญัติไว้อย่างชัดเจนเพียงพอ ทำให้ผู้ออกแบบเกิดข้อสงสัยในหลายๆ ประเด็น ซึ่งสมาคมสถาปนิกสยาม ในพระบรมราชูปถัมภ์ ได้ทำหนังสือหารือไปยัง สำนักควบคุมและตรวจสอบอาคาร กรมโยธาธิการและผังเมือง เมื่อวันที่ 31 มีนาคม 2564 และต่อมา สำนักควบคุมและตรวจสอบอาคารฯ ได้มีหนังสือตอบข้อหารือ ลงวันที่ 6 พฤษภาคม 2564

คำถามและคำตอบข้อหารือ พอสรุปความอย่างง่ายได้ ดังนี้ (กรุณาศึกษารายละเอียดจากหนังสือตอบข้อหารือฯ)

ถาม: ข้อ 9 (ของกฎกระทรวงฯ) ต้องจัดให้มีลิฟต์หรือทางลาดที่ผู้พิการฯใช้ได้ระหว่างชั้นของอาคาร กรณีจัดให้มีลิฟต์ สามารถใช้ลิฟต์ดับเพลิงได้หรือไม่
ตอบ: ได้ โดยลักษณะของลิฟต์เป็นไปตามเกณฑ์ของลิฟต์ดับเพลิง ลิฟต์โดยสาร และลิฟต์สำหรับคนพิการฯ โดยคนพิการฯต้องสามารถเข้าถึงลิฟต์ดังกล่าวได้โดยสะดวกด้วย

ถาม: ข้อ 11 บันไดสำหรับผู้พิการฯที่ต้องจัดให้มี หมายถึงบันไดภายในหรือภายนอกอาคารอย่างน้อย 1 แห่ง ใช่หรือไม่
ตอบ: ทุกบันได เว้นแต่บันไดหนีไฟ

ถาม: ข้อ 14 ที่ว่างด้านข้างที่จอดรถ สามารถจัดให้มีเพียงด้านเดียวได้หรือไม่
ตอบ: ได้

ถาม: และสามารถอนุโลมให้นับช่องจอดภายในที่จอดรถซึ่งติดตั้งระบบเคลื่อนย้ายรถด้วยเครื่องจักรกลเป็นที่จอดรถสำหรับผู้พิการฯ ได้หรือไม่
ตอบ: ไม่ได้

ถาม: ข้อ 27 โรงแรมต้องจัดให้มีห้องพักสำหรับผู้พิการฯทุกชั้น หมายความเฉพาะชั้นที่จัดให้มีห้องพักใช่หรือไม่
ตอบ: ใช่

ถาม: ข้อ 28/2 อาคารอยู่อาศัยรวม อาคารชุด หอพัก ให้จัดให้มีสิ่งอำนวยความสะดวกฯในทุกชั้นของอาคารที่มีพื้นที่ใช้สอยที่ใช้ประโยชน์ร่วมกันที่มิใช่ทางเดินร่วมกัน รวมถึงห้องน้ำสำหรับผู้พิการฯในส่วนของบริเวณที่จอดรถยนต์หรือไม่
ตอบ: หากจัดให้มีห้องน้ำสำหรับบุคคลทั่วไป ก็ต้องจัดให้ผู้พิการฯ สามารถเข้าใช้ห้องน้ำนั้นได้ด้วย

ถาม: ข้อ 28/3 พื้นที่หลบภัย สามารถอยู่ร่วมกับบันไดของอาคารที่มีการป้องกันเปลวไฟหรือควันได้หรือไม่ สามารถอยู่ร่วมกับโถงหน้าลิฟต์ดับเพลิงได้หรือไม่ สามารถจัดให้เป็นพื้นที่เฉพาะซึ่งอยู่ใกล้กับบันไดหรือลิฟต์ดับเพลิงได้หรือไม่
ตอบ: กรณีจัดพื้นที่หลบภัยในโถงลิฟต์ดับเพลิง ต้องจัดให้มีพื้นที่เพิ่มเติมจากพื้นที่โถงลิฟต์ดับเพลิง หากอยู่ในโถงหน้าบันไดหนีไฟ ต้องจัดเป็นพื้นที่เพิ่งจากพื้นที่โถงบันไดหนีไฟโดยไม่ทำให้ขนาดความกว้างของเส้นทางหนีไฟลดลง

ถาม: ข้อ 28/3 พื้นที่หลบภัย ไม่ได้กำหนดรายละเอียดไว้ เช่น รูปแบบ ตำแหน่ง รายละเอียดและจำนวน สามารถอ้างอิงได้จากที่ใดบ้าง
ตอบ: ข้อ 3/1 แห่งกฎกระทรวงฯ กำหนดให้รายละเอียดเกี่ยวกับสิ่งอำนวยความสะดวกฯให้เป็นไปตามมาตรฐานที่ได้รับการยอมรับทั่วไปและกรมโยธาฯเห็นชอบ ซึ่งปัจจุบันกรมโยธาฯได้ออกมาตรฐานการออกแบบเส้นทางหนีไฟ (มยผ. 8301) ที่สามารถอ้างอิงได้

ดาวน์โหลด: กรมโยธาฯตอบข้อหารือแนวปฏิบัติตามกฎกระทรวงกำหนดสิ่งอำนวยความสะดวกในอาคาร2564.pdf

ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
ปรับปรุงกฎกระทรวงสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับผู้พิการฯ
กรมโยธาฯตอบข้อหารือกฎกระทรวงกำหนดสิ่งอำนวยความสะดวกในอาคารฯ (2)

Facebook
Twitter
LinkedIn