กรมโยธาฯตอบข้อหารือกฎกระทรวงกำหนดสิ่งอำนวยความสะดวกในอาคารฯ (2)

กรมโยธาฯตอบข้อหารือกฎกระทรวงกำหนดสิ่งอำนวยความสะดวกในอาคารฯ (2)
15 ก.ค. 2564 ปรับปรุง 15 ก.ย. 2564

ตามที่ได้มีการปรับปรุงแก้ไข กฎกระทรวงกำหนดสิ่งอำนวยความสะดวกในอาคารสำหรับผู้พิการหรือทุพพลภาพ และคนชรา พ.ศ. 2548 โดย กฎกระทรวงกำหนดสิ่งอำนวยความสะดวกในอาคารฯ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2564 ซึ่งออกใช้บังคับเมื่อเดือนมีนาคม 2564 เนื่องจากกฎกระทรวงฉบับแก้ไขนี้มีข้อกำหนดที่อาจจะไม่ได้บัญญัติไว้อย่างชัดเจนเพียงพอ ทำให้ผู้ออกแบบเกิดข้อสงสัยในหลายๆ ประเด็น ซึ่งนอกเหนือจากสมาคมสถาปนิกสยามฯ แล้ว ยังมีผู้ประกอบวิชาชีพสถาปัตยกรรมควบคุมหลายรายได้ทำหนังสือหารือไปยัง สำนักควบคุมและตรวจสอบอาคาร กรมโยธาธิการและผังเมือง ระหว่างวันที่ 17 มีนาคม ถึง 14 มิถุนายน 2564 และต่อมา สำนักควบคุมและตรวจสอบอาคารฯ ได้มีหนังสือทะยอยตอบข้อหารือดังกล่าว

คำถามและคำตอบข้อหารือที่น่าสนใจได้รวบรวมไว้ มีดังนี้ (เพิ่มเติมจากข่าว ปรับปรุงกฎกระทรวงสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับผู้พิการฯ)

ป้ายแสดงสิ่งอำนวยความสะดวก (หมวด 1)

ถาม: ป้ายแสดงสิ่งอำนวยความสะดวกฯ ตามข้อ 6 จะต้องมีตัวอักษรเบรลล์ทุกป้ายหรือไม่ (เช่น ป้ายห้องพัก ป้ายห้องส่วนกลาง ป้ายบอกชั้น ป้ายห้องน้ำ ป้ายเตือน ป้ายคำแนะนำ ป้ายทิศทาง และป้ายหนีไฟ)
ตอบ: ไม่จำเป็นต้องมีอักษรเบรลล์ทุกป้าย เว้นแต่กรณีที่จัดให้มีห้องส้วมสำหรับผู้พิการฯ อยู่ภายในห้องส้วมที่จัดไว้สำหรับบุคคลทั่วไป หากมีการจัดห้องส้วมสำหรับผู้ชายและผู้หญิงแยกออกจากกันให้มีอักษรเบรลล์แสดงให้รู้ว่าเป็นห้องส้วมสำหรับผู้ชายหรือผู้หญิงติดไว้ที่ผนังทางเข้าในตำแหน่งที่สามารถสัมผัสได้ด้วย ทั้งนี้ ตามข้อ 22 แห่งกฎกระทรวงฯ

ทางลาด (หมวด 2)

ถาม: ข้อ 7 ในอาคารชุดอยู่อาศัยที่ไม่มีห้องพักสำหรับผู้พิการ พื้นต่างระดับที่เกิน 1.3 ซม. ในพื้นที่ ห้องน้ำ-ห้องส้วม ภายในห้องพักกับระเบียง และภายในห้องพักกับทางเดินส่วนกลางที่มีการลดระดับ ต้องทำเป็นทางลาดตามข้อนี้หรือไม่
ตอบ: อาคารชุดที่เป็นอาคารขนาดใหญ่ ให้จัดให้มีสิ่งอำนวยความสะดวกฯ ในทุกชั้นของอาคารที่มีพื้นที่ใช้สอยที่ใช้ประโยชน์ร่วมกันที่มิใช่ทางเดินร่วมกันที่ไปสู่ห้องชุด ทั้งนี้ตามข้อ 28/2 ของกฎกระทรวง

ถาม: ข้อ 8(4) กรณีมีพื้นที่ว่าง 1.5 เมตร ก่อนถึงประตูและทางลาดต่างระดับอยู่ถัดจากประตู จำเป็นต้องจัดให้มีพื้นที่ที่เป็นที่ว่างระหว่างประตูกับทางลาดอีกหรือไม่
ตอบ: ต้องจัดให้มีพื้นที่เป็นที่ว่าง 1.50 เมตร ระหว่างประตูกับทางลาดด้วย

ลิฟต์ (หมวด 2)

ถาม: อาคารสูงสามารถใช้ลิฟต์ดับเพลิงเป็นลิฟต์สำหรับผู้พิการฯ ได้หรือไม่
ตอบ: ตามข้อ 44 วรรคสอง แห่งกฎกระทรวง ฉบับที่ 33 (พ.ศ. 2535)ฯ กำหนดให้ในเวลาปกติลิฟต์ดับเพลิงสามารถใช้เป็นลิฟต์โดยสารได้ หากจะใช้ลิฟต์ดับเพลิงเป็นลิฟต์โดยสารที่ผู้พิการหรือทุพพลภาพ และคนชราสามารถใช้ได้ด้วยนั้น ลักษณะของลิฟต์จะต้องเป็นไปตามเกณฑ์ของลิฟต์ดับเพลิง ลิฟต์โดยสาร และลิฟต์สำหรับผู้พิการฯ ตามที่กฎหมายว่าด้วยการควบคุมอาคารกำหนด โดยผู้พิการหรือทุพพลภาพ และคนชรา ต้องสามารถเข้าถึงลิฟต์ดังกล่าวได้โดยสะดวกด้วย

ถาม: อาคารสูงในกรณีใช้ลิฟต์โดยสารปกติเป็นลิฟต์สำหรับผู้พิการ ลิฟต์โดยสารทุกตัวจะต้องเป็นลิฟต์สำหรับผู้พิการหรือไม่ หรือมีแค่หนึ่งตัว
ตอบ: ลิฟต์โดยสารในอาคารไม่จำเป็นต้องจัดเป็นลิฟต์สำหรับผู้พิการฯ ทุกตัว

ถาม: ในกรณีอาคารอยู่อาศัยรวมเป็นอาคารสูงที่มีพื้นที่ชั้นดาดฟ้าหรือชั้นหลังคาของอาคารเป็นพื้นที่สีเขียวตามข้อกำหนดรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ลิฟต์สำหรับผู้พิการฯ จะต้องขึ้นถึงชั้นดังกล่าวหรือไม่
ตอบ: หากบุคคลทั่วไปสามารถเข้าใช้สอยพื้นที่ได้ ก็ต้องจัดให้มีลิฟต์หรือทางลาดเพื่อให้ผู้พิการหรือทุพพลภาพ และคนชรา สามารถเข้าใช้พื้นที่ดังกล่าวได้ด้วย

ถาม: ชั้นลอย กรณีที่ไม่ได้จัดให้มีลิฟต์ใดๆ เปิดใช้สำหรับคนทั่วไป ต้องจัดให้มีลิฟต์สำหรับผู้พิการฯจอดในชั้นนั้นหรือไม่
ตอบ: แม้ว่าไม่ได้จัดให้มีลิฟต์สำหรับบุคคลทั่วไปก็ตาม แต่ต้องจัดให้มีสิ่งอำนวยความสะดวกที่คนพิการฯ เข้าไปใช้สอยได้ เช่น บันได ทางลาด หรือลิฟต์

ถาม: พื้นที่หนีไฟทางอากาศซึ่งอยู่เหนือระดับพื้นชั้นดาดฟ้า และได้จัดให้มีบันไดสำหรับผู้พิการฯหรือทางลาดอย่างใดอย่างหนึ่ง เพียงพอหรือไม่
ตอบ: ต้องจัดให้มีลิฟต์สำหรับคนพิการหรือทางลาดเพื่อให้คนพิการฯ สามารถเข้าถึงได้

ถาม: ชั้นจอดรถที่เป็นชั้นลอยและไม่มีที่จอดรถผู้พิการ จำเป็นหรือไม่ที่ลิฟต์ผู้พิการต้องจอดชั้นนี้
ตอบ: หากจัดให้มีลิฟต์สำหรับบุคคลทั่วไปใช้ได้ ลิฟต์ดังกล่าวผู้พิการฯต้องสามารถใช้ได้ด้วย

ถาม: ลิฟต์ในรูปแบบ Platform สามารถใช้แทนลิฟต์ผู้พิการได้หรือไม่ ถ้าได้ ต้องมีขนาดตามข้อ 7 หรือไม่ เนื่องจากขนาดและระบบเป็นไปตามมาตรฐานผู้ผลิต
ตอบ: ลิฟต์ที่ผู้พิการฯใช้ได้ ต้องเป็นไปตามข้อ 9 ของกฎกระทรวง หากมีลักษณะเป็นห้องลิฟต์ต้องเป็นไปตามข้อ 10 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติม

ถาม: ลิฟต์ต้องมีช่องกระจกใสนิรภัยที่สามารถมองเห็นระหว่างภายนอกและภายในได้ สูงจากพื้นไม่เกิน 1.10 เมตร การวัดความสูงต้องวัดจากพื้นถึงขอบด้านล่างหรือขอบด้านบนของกระจกใสนิรภัย
ตอบ: ตามข้อ 10(1) ของกฎกระทรวง ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติม ให้ติดตั้งที่ระดับความสูงจากพื้นถึงขอบล่างของกระจกใสนิรภัยไม่เกิน 1.10 เมตร

บันได (หมวด 3)

ถาม: บันไดของอาคารสูง จะต้องมีราวบันได 2 ด้าน เพื่อสำหรับผู้พิการฯ ทุกบันไดหรือไม่ (รวมบันไดหนีไฟ)
ตอบ: อาคารตามข้อ 3 แห่งกฎกระทรวงกำหนดสิ่งอำนวยความสะดวกฯ พ.ศ. 2548 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยกฎกระทรวงกำหนดสิ่งอำนวยความสะดวกฯ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2564 ที่เป็นอาคารสูงที่มีบันไดภายในหรือภายนอกอาคาร ต้องจัดให้มีลักษณะของบันไดตามข้อ 11 แห่งกฎกระทรวงดังกล่าว และกฎกระทรวง ฉบับที่ 55 (พ.ศ. 2543)ฯ ทุกบันได เว้นแต่บันไดหนีไฟ

ถาม: เมื่อเพิ่มราวกันตกของบันไดทั้งสองด้านแล้ว ความกว้างบันไดตามกฎกระทรวงฯ นี้นับรวมราวบันไดหรือไม่ หรือวัดระยะสุทธิโดยหักราวบันไดออก
ตอบ: การวัดความกว้างสุทธิของบันได ให้วัดจากจุดหนึ่งไปยังอีกจุดหนึ่งโดยปราศจากสิ่งใดๆ กีดขวาง

ถาม: บันไดภายในห้องชุดพักอาศัยของอาคารอยู่อาศัยรวมที่ใช้ขึ้นลงภายในห้อง (เช่น ห้องชุดพักอาศัยที่เป็นสองชั้น หรือมีชั้นลอย) ต้องมีลักษณะตามกฎกระทรวงฯ นี้หรือไม่
ตอบ: อาคารชุดหรืออาคารอยู่อาศัยรวมที่เป็นอาคารขนาดใหญ่ ให้จัดให้มีสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับผู้พิการหรือทุพพลภาพ และคนชรา ในทุกชั้นของอาคารที่มีพื้นที่ใช้สอยที่ใช้ประโยชน์ร่วมกันที่มิใช่ทางเดินร่วมกันที่ไปสู่ห้องชุด ภายในห้องพักเป็นพื้นที่ส่วนบุคคลอาจจัดให้มีสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับผู้พิการหรือทุพพลภาพ และคนชรา ก็ได้

ถาม: กรณีอาคารชุดและอาคารอยู่อาศัยรวมที่มีชั้นลอยอยู่ในพื้นที่ใช้งานส่วนกลาง ต้องออกแบบให้ผู้พิการฯ สามารถเข้าใช้พื้นที่บริเวณชั้นลอยได้ด้วยหรือไม่
ตอบ: หากพื้นชั้นลอยนั้นบุคคลทั่วไปสามารถเข้าใช้สอยได้ ก็ต้องออกแบบให้ผู้พิการหรือทุพพลภาพ และคนชรา เข้าใช้สอยได้ด้วย

ถาม: กรณีอาคารสูงหรืออาคารขนาดใหญ่พิเศษจัดให้มีบันไดหลัก 2 บันได ขนาดกว้าง 1.20 เมตร และใช้บันไดหลักทั้งสองบันไดเป็นบันไดหนีไฟด้วย ต้องจัดบันไดสำหรับผู้พิการ 1 หรือ 2 บันได
ตอบ: บันไดทั้งสองบันไดต้องจัดให้มีลักษณะของบันไดตามกฎกระทรวงฯ

ถาม: กรณีจัดให้มีบันไดลักษณะรูปแบบกรรไกรในอาคารสูงเป็นบันไดหลักที่มีความกว้างสุทธิ 1.20 เมตร และบันไดหนีไฟในรูปแบบสำหรับผู้พิการฯด้วย สามารถนำมาเป็นบันไดตามเกณฑ์ใช่หรือไม่
ตอบ: กรณีนำบันไดหลักในอาคารสูงมาเป็นบันไดหนีไฟและบันไดสำหรับผู้พิการฯด้วย บันไดดังกล่าวต้องเป็นไปตามเกณฑ์ลักษณะของบันไดหนีไฟตามกฎกระทรวง ฉบับที่ 33ฯ และต้องจัดให้มีลักษณะของบันไดตามกฎกระทรวงกำหนดสิ่งอำนวยความสะดวกฯ ด้วย

ถาม: บันได กรณีลูกตั้งสูงไม่เกิน 18 ซม. แต่ลูกนอนมีความกว้างมากกว่า 30 ซม. และมีผลรวมลูกตั้งและลูกนอนรวมกันมากกว่า 48 ซม. ถือว่ายังเข้าข่ายเป็นบันไดสำหรับผู้พิการฯตามเกณฑ์หรือไม่
ตอบ: ข้อ 11(2) กำหนดขั้นบันไดต้องมีความสูงของลูกตั้งและความลึกของลูกนอนสม่ำเสมอตลอดทั้งช่วงบันได ลูกตั้งสูงไม่เกิน 18 ซม. โดยผลรวมของลูกตั้งกับลูกนอนไม่น้อยกว่า 43 ซม. และไม่เกิน 48 ซม.

ถาม: ชั้นดาดฟ้า พื้นที่หนีไฟทางอากาศ ชั้นห้องเครื่องงานระบบวิศวกรรม ชั้นลอยที่เป็นพื้นที่ส่วนกลาง ซึ่งมีทางขึ้นระหว่างชั้นด้วยบันได ไม่มีลิฟต์โดยสารเปิดให้บริการ ต้องจัดให้เป็นบันไดสำหรับผู้พิการฯ หรือต้องจัดให้มีลิฟต์สำหรับผู้พิการฯ หรือทางลาดเพิ่มเติมหรือไม่
ตอบ: พื้นที่ที่บุคคลทั่วไปสามารถเข้าไปใช้สอยได้ตามปกติ ต้องจัดให้ลิฟต์หรือทางลาดเพื่อให้ผู้พิการฯ สามารถเข้าใช้พื้นที่ดังกล่าวได้ ส่วนพื้นที่เฉพาะที่บุคคลทั่วไปไม่ได้เข้าไปใช้สอย เช่น ชั้นห้องเครื่องงานระบบวิศวกรรม ก็ไม่จำเป็นต้องจัดสิ่งอำนวยความสะดวก

ถาม: สระว่ายน้ำที่อยู่ในระดับที่สูงกว่าระดับพื้นของชั้นนั้น และเข้าถึงได้ด้วยบันได ต้องจัดให้มีลิฟต์สำหรับผู้พิการฯเพิ่มเติมหรือไม่ หรือสามารถจัดให้มีลิฟต์บันไดได้หรือไม่ ถ้าได้ต้องมีขนาดเท่าใด
ตอบ: สามารถจัดให้มีลิฟต์บันไดได้โดยมีระบบควบคุมลิฟต์ที่ผู้พิการฯ สามารถควบคุมได้เอง ใช้งานได้อย่างปลอดภัย และจัดไว้ในบริเวณที่ผู้พิการฯ ใช้ได้อย่างสะดวก ทั้งนี้ ตามข้อ 9 ของกฎกระทรวง

ที่จอดรถ (หมวด 4)

ถาม: ที่จอดรถสำหรับผู้พิการหรือทุพพลภาพ และคนชรา สามารถนับรวมกับที่จอดรถที่ต้องจัดให้มีตามกฎหมายว่าด้วยการควบคุมอาคารได้หรือไม่
ตอบ: ได้

ถาม: ที่ต้องจัดให้มีที่ว่างด้านข้างที่จอดรถกว้างไม่น้อยกว่า 1.00 เมตรตลอดความยาวของที่จอดรถนั้น จะต้องจัดให้มีที่ว่างดังกล่าวทั้งสองข้างของที่จอดรถหรือไม่ หรือสามารถจัดให้มีเพียงด้านเดียวของที่จอดรถได้
ตอบ: สามารถจัดเพียงด้านเดียวได้

ถาม: การจัดให้มีที่ว่างข้างที่จอดรถกว้างไม่น้อยกว่า 1 เมตร ตลอดความยาวของที่จอดรถสำหรับผู้พิการฯ สามารถใช้ร่วมกันได้หรือไม่
ตอบ: กรณีที่จอดรถ 2 คัน สามารถใช้ที่ว่างด้านข้างดังกล่าวร่วมกันได้

ถาม: ข้อ 13 ระบุให้ที่จอดรถสำหรับผู้พิการฯ ต้องจัดไว้ใกล้ทางเข้าออกอาคารให้มากที่สุด จำเป็นหรือไม่ว่าต้องจอดที่ชั้นที่ 1 หรือชั้นล่างสุด หรือสามารถจัดให้จอดชั้นอื่นได้โดยใช้ลิฟต์ บันได หรือทางลาดสัญจรสำหรับผู้พิการฯ โดยสะดวก
ตอบ: ตามข้อ 13 กำหนดให้ต้องจัดไว้ใกล้ทางเข้าออกอาคารให้มากที่สุด

ถาม: อาคารตามข้อ 3 ซึ่งไม่เข้าข่ายอาคารขนาดใหญ่ (ที่ตั้งอยู่บนพื้นที่เกาะบริวารต่างๆ ในจังหวัดภูเก็ต) จะต้องจัดให้มีที่จอดรถสำหรับผู้พิการฯ ตามข้อ 12 ด้วยหรือไม่
ตอบ: อาคารตามข้อ 3 จะต้องจัดให้มีที่จอดรถสำหรับผู้พิการฯ หรือไม่นั้น จะต้องพิจารณาประเภทและพื้นที่ของอาคารตามกฎกระทรวง ฉบับที่ 7 (พ.ศ. 2517) ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยกฎกระทรวง ฉบับที่ 64 (พ.ศ. 2555) หากต้องจัดให้มีที่จอดรถยนต์ตามกฎกระทรวงดังกล่าว ก็ต้องจัดให้มีที่จอดรถสำหรับผู้พิการฯ ตามข้อ 12 (ตอบเพิ่มเติม) กรณีอาคารประเภทและลักษณะตามที่หารือเข้าข่ายเป็นอาคารตามข้อ 3 แต่ไม่เข้าข่ายประเภทและลักษณะของอาคารตามกฎกระทรวง ฉบับที่ 7ฯ จะไม่จัดให้มีที่จอดรถสำหรับผู้พิการฯ ก็ได้ ส่วนกรณีอาคารโรงแรมที่เข้าข่ายเป็นอาคารตามข้อ 3 และมีพื้นที่โถงหรือพื้นที่ที่ใช้เพื่อกิจการพาณิชยกรรมในหลังเดียวกันหรือหลายหลังรวมกันตั้งแต่ 300 ตร.ม.ขึ้นไป หรือเป็นอาคารโรงแรมที่มีลักษณะเป็นอาคารขนาดใหญ่ ที่ตั้งอยู่ในพื้นที่ที่ตามสภาพธรรมชาติไม่สามารถนำรถยนต์เข้าไปใช้ได้ จะไม่จัดให้มีที่จอดรถยนต์ก็ได้ ทั้งนี้ ตามข้อ 2 วรรคสอง แห่งกฎกระทรวง ฉบับที่ 7ฯ

ห้องส้วม (หมวด 7)

ถาม: อาคารชุดและอาคารอยู่อาศัยรวมต้องจัดให้มีห้องน้ำสำหรับผู้พิการฯ ในทุกชั้นที่มีพื้นที่ส่วนกลาง (ห้องออกกำลังกาย ห้องประชุมส่วนกลาง สระว่ายน้ำ) หรือไม่
ตอบ: อาคารชุดหรืออาคารอยู่อาศัยรวมที่เป็นอาคารขนาดใหญ่ หากบริเวณพื้นที่ส่วนกลางจัดให้มีห้องน้ำสำหรับบุคคลทั่วไปเข้าใช้สอยได้ ก็ต้องจัดให้ผู้พิการหรือทุพพลภาพ และคนชรา สามารถเข้าใช้ได้ด้วย

ถาม: อาคารชุดและอาคารอยู่อาศัยรวม ในชั้นที่มีเฉพาะพื้นที่สวนดาดฟ้าหรือสวนหลังคา และไม่มีห้องน้ำสำหรับผู้ใช้งานปกติ จำเป็นต้องจัดให้มีห้องน้ำสำหรับผู้พิการฯ เพิ่มเติมหรือไม่
ตอบ: หากพื้นที่สวนดาดฟ้าหรือสวนหลังคาไม่ได้จัดให้มีห้องน้ำสำหรับบุคคลทั่วไป อาจจัดให้มีห้องน้ำสำหรับผู้พิการหรือทุพพลภาพ และคนชรา ก็ได้

ถาม: อาคารโรงแรม ในส่วนของพื้นที่บริการของพนักงานโรงแรมเข้าใช้ (Back of House) โดยคนทั่วไปไม่เข้าใช้ จำเป็นต้องจัดให้มีห้องน้ำห้องส้วมสำหรับผู้พิการฯ หรือไม่
ตอบ: ในกรณีของอาคารที่เป็นโรงแรม ในส่วนของพื้นที่บริการของพนักงานโรงแรมเข้าใช้ แม้คนทั่วไปไม่สามารถเข้าถึงได้ หากบริเวณดังกล่าวจัดให้มีห้องน้ำสำหรับพนักงานโรงแรมเข้าใช้ได้ ห้องน้ำนั้นผู้พิการฯ ก็ต้องใช้ได้ด้วย

ถาม: ห้องส้วมสำหรับผู้พิการฯ ให้จัดในชั้นที่มีห้องส้วมส่วนกลางสำหรับบุคคลทั่วไปทุกแห่งใช่หรือไม่
ตอบ: หากจัดให้มีห้องส้วมสำหรับบุคคลทั่วไปเข้าใช้สอยได้ ก็ต้องจัดให้ผู้พิการฯ สามารถเข้าใช้ได้ด้วย

โรงแรม (หมวด 9 ข้อ 27, 27/1, 28)

ถาม: กรณีโรงแรมมีลักษณะเป็นอาคาร 2 ชั้น หรืออาคาร 3 ชั้น ที่ไม่มีลิฟต์โดยสาร ซึ่งต้องจัดให้มีห้องพักที่มีสิ่งอำนวยความสะดวกฯ ทั้งนี้ ผู้พิการฯ สามารถเดินขึ้นบันไดไปพักอาศัยในห้องพักชั้น 2 และชั้น 3 ใช่หรือไม่
ตอบ: หากไม่มีลิฟต์โดยสาร ต้องจัดให้มีทางลาดและบันไดที่ผู้พิการฯ สามารถขึ้นไปยังชั้น 2 และชั้น 3 ที่มีห้องพักสำหรับผู้พิการฯ ได้ด้วย

ถาม: กรณีโรงแรมหลังเล็กๆ สไตล์รีสอร์ท เช่น อาคาร 2 ชั้น มีห้องพักชั้นละ 1 ห้องหรือ 2 ห้อง แต่มีหลายหลัง ถ้าต้องจัดให้มีห้องพักที่มีสิ่งอำนวยความสะดวกฯ ทุกชั้น ชั้นละไม่น้อยกว่า 1 ห้อง จะทำให้โรงแรมนี้มีห้องพักผู้พิการจำนวนมาก หรือเกือบทั้งโครงการ จึงขอหารือแนวทางความชัดเจนในทางปฏิบัติ เพื่อแนวทางการออกแบบให้กับผู้ประกอบการ
ตอบ: หากเป็นโรงแรมที่ให้บริการเข้าพักแบบเหมาทั้งหลัง กรณีมีอาคารไม่เกิน 10 หลัง ต้องจัดให้มีอาคารที่มีสิ่งอำนวยความสะดวกฯ ไม่น้อยกว่า 1 หลัง และในกรณีที่มีอาคารเกินกว่า 10 หลังขึ้นไป ให้เพิ่มจำนวนอาคารที่จัดให้มีสิ่งอำนวยความสะดวกฯ 1 หลังต่อทุก 10 หลังที่เพิ่มขึ้น เศษของ 10 หลัง ให้คิดเป็น 10 หลัง

ถาม: กรณีโรงแรมที่มีลักษณะอาคาร 2 ชั้นขึ้นไป และในแต่ละชั้นมีห้องพักมากกว่า 10 ห้อง ต้องจัดให้มีข้อกำหนดตามข้อ 27 วรรคสอง และวรรคสาม ด้วยหรือไม่ ตามที่ระบุว่า (1) จำนวนห้องพักไม่เกิน 10 ห้อง ให้มีห้องพักที่มีสิ่งอำนวยความสะดวกฯ ไม่น้อยกว่า 1 ห้อง และ (2) ในกรณีที่มีห้องพักเกินกว่า 10 ห้องขึ้นไป ให้เพิ่มห้องพักที่มีสิ่งอำนวยความสะดวกฯ 1 ห้อง ต่อทุก 10 ห้อง ที่เพิ่มขึ้น เศษของ 10 ห้องให้คิดเป็น 10 ห้อง
ตอบ: กรณีข้อ 27 (1) และ (2) จะเป็นข้อกำหนดกรณีที่โรงแรมมีลักษณะเป็นอาคารชั้นเดียว

ถาม: โรงแรมต้องจัดให้มีห้องพักที่มีสิ่งอำนวยความสะดวกฯ ทุกชั้น ชั้นละไม่น้อยกว่า 1 ห้อง หากแบ่งห้องพักเป็นหลายอาคาร และแต่ละอาคามีจำนวนห้องพัก 3-4 ห้องต่อชั้น จะทำให้สัดส่วนจำนวนห้องพักของคนพิการมีจำนวนมาก กรณีนี้จะมีห้องพักคนพิการมากถึง 25%
ตอบ: ต้องจัดให้มีห้องพักที่มีสิ่งอำนวยความสะดวกฯ ทุกชั้น ชั้นละไม่น้อยกว่า 1 ห้องตามที่กฎหมายกำหนด

ถาม: โรงแรมประกอบด้วยอาคาร 3 หลัง แต่ละหลังมี 3 ชั้น ทั้ง 3 หลัง ตั้งอยู่บนเส้น contour เดียวกันหรือใกล้เคียงกัน จะต้องเตรียมห้องพักสำหรับผู้พิการฯไว้ในอาคารหลังใดหลังหนึ่งได้หรือไม่
ตอบ: ต้องจัดให้มีห้องพักที่มีสิ่งอำนวยความสะดวกฯ ในอาคารทุกหลัง ทุกชั้น ชั้นละไม่น้อยกว่า 1 ห้อง

ถาม: หากโรงแรมมีหลายชั้น และต้องเตรียมห้องพักผู้พิการฯไว้ทุกชั้น ในกรณีเกิดเพลิงไหม้และไม่สามารถใช้ลิฟต์ได้ ผู้พิการจะช่วยเหลือตัวเองอย่างไร
ตอบ: กรณีโรงแรมเข้าข่ายอาคารสูง ต้องจัดให้มีพื้นที่หลบภัย ระบบการเตือนภัย และการขอความช่วยเหลือกรณีฉุกเฉิน ตามข้อ 28/3 ของกฎกระทรวง เพื่อเป็นพื้นที่พักรอการช่วยเหลือ กรณีเกิดอัคคีภัยหรือเหตุฉุกเฉิน

อาคารอยู่อาศัยรวม อาคารชุด หรือหอพัก (หมวด 9 ข้อ 28/2)

ถาม: ข้อ 28/2 ระบุว่าให้จัดให้มีสิ่งอำนวยความนะดวกฯ ในทุกชั้นของอาคารที่มีพื้นที่ใช้สอยที่ใช้ประโยชน์ร่วมกันที่มิใช่ทางเดินร่วมกัน กรณีดาดฟ้ามีสระว่ายน้ำ แต่ไม่มีลิฟต์ไปถึง ต้องทำอย่างไร
ตอบ: หากเป็นพื้นที่ที่บุคคลทั่วไปสามารถเข้าไปใช้สอยได้ ต้องจัดให้มีสิ่งอำนวยความสะดวกที่ผู้พิการหรือทุพพลภาพ และคนชรา เข้าใช้สอยได้ด้วย

ถาม: กรณีห้องชุดที่ขายเป็นห้องชุดเพื่อการค้าหรือการพาณิชย์ ประเภทร้านอาหารหรือฟิตเนส ถือเป็นพื้นที่ใช้สอยที่ใช้ประโยชน์ร่วมกันหรือไม่
ตอบ: อาคารชุดที่เป็นอาคารขนาดใหญ่ กรณีเป็นห้องเพื่อการค้าหรือการพาณิชย์ประเภทร้านอาหาร ฟิตเนส ซึ่งบุคคลทั่วไปสามารถเข้าใช้ประโยชน์ในพื้ที่ดังกล่าวร่วมกันได้ ต้องจัดให้มีสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับผู้พิการหรือทุพพลภาพ และคนชรา เข้าใช้ได้ด้วย

พื้นที่หลบภัย ระบบการเตือนภัย และการขอความช่วยเหลือกรณีฉุกเฉิน (หมวด 9 ข้อ 28/3)

ถาม: พื้นที่หลบภัยสำหรับอาคารสูงหรืออาคารขนาดใหญ่พิเศษ ตามข้อ 2 และข้อ 18 นั้น ต้องจัดให้มีที่บริเวณใด ในโถงลิฟต์ดับเพลิง หรือโถงบันไดหนีไฟ
ตอบ: พื้นที่หลบภัยต้องสามารถเข้าถึงได้จากพื้นที่ที่กำหนดให้เป็นเส้นทางหนีไฟ สามารถจัดให้มีพื้นที่หลบภัยได้ทั้งในโถงลิฟต์ดับเพลิงหรือโถงบันไดหนีไฟ

ถาม: พื้นที่หลบภัยต้องมีขนาดเท่าใด สามารถใช้ร่วมและนับพื้นที่รวมกับพื้นี่โถงหน้าลิฟต์ดับเพลิง 6.00 ตารางเมตร หรือใช้ร่วมกับโถงบันไดหนีไฟกว้าง 1.50 เมตร ได้หรือไม่ หรือต้องเป็นพื้นที่ที่เพิ่มจากพื้นที่ดังกล่าว
ตอบ: กรณีจัดพื้นที่หลบภัยในโถงลิฟต์ดับเพลิง ต้องจัดให้มีพื้นที่เพิ่มเติมจากพื้นที่โถงลิฟต์ดับเพลิง 6.00 ตารางเมตร กรณีจัดพื้นที่หลบภัยในโถงบันไดหนีไฟ ต้องจัดเป็นพื้นที่เพิ่มเติมจากพื้นที่โถงหน้าบันไดหนีไฟ โดยไม่ทำให้ขนาดความกว้างของเส้นทางหนีไฟลดลง
ข้อ 3/1 แห่งกฎกระทรวงฯ กำหนดให้รายละเอียดเกี่ยวกับสิ่งอำนวยความสะดวกให้เป็นไปตามมาตรฐานที่ได้รับการยอมรับทั่วไปและกรมโยธาธิการและผังเมืองเห็นชอบ ซึ่งปัจจุบันกรมฯได้ออกมาตรฐานการออกแบบเส้นทางหนีไฟ (มยผ. 8301) ซึ่งมีรายละเอียดเกี่ยวกับเส้นทางหนีไฟและขนาดของพื้นที่หลบภัยสำหรับผู้พิการหรือทุพพลภาพ และคนชรา ที่สามารถอ้างอิงได้

ถาม: อาคารชุดและอาคารอยู่อาศัยรวม(ที่เป็นอาคารสูงหรืออาคารขนาดใหญ่พิเศษ) ต้องจัดให้มีพื้นที่หลบภัยทุกชั้นของอาคารหรือไม่ เช่น ชั้นจอดรถ ชั้นพักอาศัยทุกชั้น และชั้นที่มีพื้นที่ส่วนกลาง
ตอบ: ต้องจัดให้มีพื้นที่หลยภัยทุกชั้นของอาคาร เว้นแต่ชั้นล่างของอาคารที่ออกสู่ภายนอก และชั้นดาดฟ้าของอาคาร กรณีชั้นจอดรถที่กฎหมายกำหนดให้ต้องจัดให้มีลิฟต์ดับเพลิงหรือบันไดหนีไฟต้องจัดให้มีพื้นที่หลบภัยด้วย

ถาม: ชั้นที่ 1 ชั้นดาดฟ้า ชั้นจอดรถยนต์ไม่มีที่จอดรถสำหรับผู้พิการฯ ชั้นจอดรถยนต์มีที่จอดรถสำหรับผู้พิการฯ ต้องจัดให้มีพื้นที่หลบภัยหรือไม่
ตอบ: ชั้นล่างของอาคารที่ออกสู่ภายนอก และชั้นดาดฟ้าของอาคารไม่จำเป็นต้องจัดให้มีพื้นที่หลบภัย บริเวณชั้นจอดรถยนต์ที่กฎหมายกำหนดให้ต้องจัดให้มีลิฟต์ดับเพลิงหรือบันไดหนีไฟต้องจัดให้มีพื้นที่หลบภัยด้วย

ถาม: ในกรณีที่จัดพื้นที่หลบภัยไว้กับบันไดหนีไฟ ต้องจัดให้มีในทุกบันไดหนีไฟหรือไม่
ตอบ: ต้องจัดให้มีในทุกบันไดหนีไฟ

ถาม: ขอบเขตของอุปกรณ์และระบบการขอความช่วยเหลือกรณีฉุกเฉิน ตามข้อ 28/3 ต้องมีอะไรบ้าง ปุ่มกดแจ้งขอความช่วยเหลือ อุปกรณ์สื่อสาร แสงไฟเตือนภัยเป็นไฟกระพริบสีแดง เขียว ตามข้อ 10(8) หรือไม่
ตอบ: ตามข้อ 28/3 กำหนดให้อาคารตามข้อ 3 แห่งกฎกระทรวงกำหนดสิ่งอำนวยความสะดวกฯ พ.ศ. 2548 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยกฎกระทรวงกำหนดสิ่งอำนวยความสะดวกฯ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2564 ที่เป็นอาคารสูงหรืออาคารขนาดใหญ่พิเศษ ต้องจัดให้มีพื้นที่หลบภัย ระบบการเตือนภัย และการขอความช่วยเหลือกรณีฉุกเฉิน โดยในพื้นที่หลบภัยต้องจัดให้มีระบบสื่อสารแบบสองทางที่ใช้ไฟจากระบบไฟฟ้าสำรองฉุกเฉินเพื่อทำการสื่อสารระหว่างพื้นที่หลบภัยและห้องควบคุมของอาคาร (control room) ในกรณีที่ห้องควบคุมของอาคารไม่มีพนักงานประจำตลอดเวลา ภายในพื้นที่หลบภัยต้องติดตั้งระบบโทรศัพท์ที่สามารถติดต่อออกไปยังภายนอกอาคารได้ โดยระบบการสื่อสารแบบสองทางต้องเป็นแบบสัญญาณเสียงและสัญญาณที่มองเห็นได้อย่างชัดเจน

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
ปรับปรุงกฎกระทรวงสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับผู้พิการฯ
กรมโยธาฯตอบข้อหารือกฎกระทรวงกำหนดสิ่งอำนวยความสะดวกในอาคารฯ

 

Facebook
Twitter
LinkedIn