กฎกระทรวงควบคุมอาคารกำหนดการออกแบบโครงสร้างอาคาร

กฎกระทรวงควบคุมอาคารกำหนดการออกแบบโครงสร้างอาคาร
6 ก.ย. 2566

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย โดยคำแนะนำของคณะกรรมการควบคุมอาคาร ออก “กฎกระทรวงกำหนดการออกแบบโครงสร้างอาคารและลักษณะและคุณสมบัติของวัสดุที่ใช้ในงานโครงสร้างอาคาร พ.ศ. 2566” ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 6 กันยายน 2566 และให้ใช้บังคับเมื่อพ้นกำหนด 180 วันนับแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป คือตั้งแต่วันที่ 4 มีนาคม 2567

กฎกระทรวงนี้เป็นข้อกำหนดในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการรับน้ำหนัก ความต้านทานและความคงทนของอาคาร ตลอดจนลักษณะและคุณสมบัติของวัสดุที่ใช้ในงานโครงสร้างอาคาร ซึ่งเดิมกำหนดอยู่ใน กฎกระทรวง ฉบับที่ 6 (พ.ศ. 2527)ฯ และที่แก้ไขเพิ่มเติม และได้ใช้บังคับมาเป็นเวลานาน สมควรปรับปรุงหลักเกณฑ์เหล่านี้ให้สอดคล้องกับสภาพการณ์ปัจจุบัน และสอดคล้องกับมาตรฐานสากล เพื่อให้งานโครงสร้างอาคารเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและเกิดความปลอดภัยต่อชีวิต ร่างการ และทรัพย์สินของประชาชน

กฎกระทรวงนี้ให้ยกเลิก กฎกระทรวง ฉบับที่ 6 (พ.ศ. 2527)ฯ และที่แก้ไขเพิ่มเติมคือ กฎกระทรวง ฉบับที่ 48 (พ.ศ. 2540)ฯ และกฎกระทรวง ฉบับที่ 60 (พ.ศ. 2549)ฯ ซึ่งจะถูกแทนที่ด้วย กฎกระทรวงใหม่ 3 ฉบับ คือ ฉบับที่กำหนดการออกแบบโครงสร้างนี้ และอีกสองฉบับที่ประกาศในราชกิจจานุเบกษาก่อนหน้านี้ ได้แก่ ฉบับที่กำหนดฐานรากของอาคารและพื้นดินที่รองรับอาคาร และฉบับที่กำหนดวัสดุที่ใช้ในการก่อสร้างอาคารประเภทควบคุมการใช้ (ดูข่าวที่เกี่ยวเนื่อง)

ในกฎกระทรวงฯ ประกอบด้วยหมวดต่างๆ ได้แก่ บททั่วไป วิธีการออกแบบและคำนวณโครงสร้างอาคาร น้ำหนักบรรทุก แรงลม แรงสั่นสะเทือนของแผ่นดินไหว วัสดุที่ใช้ในงานโครงสร้างอาคาร การทนไฟของวัสดุก่อสร้าง และบทเฉพาะกาล

สำหรับค่าน้ำหนักบรรทุกจรสำหรับประเภทการใช้อาคารและส่วนต่างๆ ของอาคาร มีการปรับปรุงทั้งการแบ่งประเภทการใช้อาคาร และค่าน้ำหนักบรรทุกจรในบางประเภท มีการแบ่งประเภทการใช้อาคารที่ละเอียดขึ้น ในแต่ละประเภทการใช้อาคารยังแบ่งเป็นส่วนต่างๆ ของอาคารที่มีค่าน้ำหนักบรรทุกจรแตกต่างกัน และในการออกแบบและคำนวณ จะต้องแสดงรายการคำนวณการรับน้ำหนักและกำลังต้านทานสำหรับองค์อาคารแต่ละส่วน ค่าน้ำหนักบรรทุกจรก็มีการปรับปรุงจากเดิมในบางประเภทหรือส่วนของอาคาร เช่น พื้นที่ขายปลีกของอาคารพาณิชย์ 400 กิโลกรัมต่อตารางเมตร เท่ากับห้างสรรพสินค้า (เดิม 300) ห้องโถงของอาคารพาณิชย์ 500 กก./ตร.ม. (เดิม 400) ห้องเรียน 250 กก./ตร.ม. และห้องเรียนรวม 300 กก./ตร.ม. (เดิม 300 ค่าเดียวสำหรับสถานศึกษา) บ้านพักอาศัย 200 กก./ตร.ม. (เดิม 150) โรงแรม อาคารอยู่อาศัยรวม ถ้าเป็นห้องนอน 200 กก./ตร.ม. ห้องโถง 400 กก./ตร.ม. (เดิม 300 ค่าเดียวสำหรับโรงแรม อาคารชุด) ส่วนหลังคา 50 กก./ตร.ม. (เดิม 30) เป็นต้น

ในหมวดแรงลม ได้แยกเป็นการออกแบบและคำนวณโครงสร้างหลักของอาคารสำหรับอาคารซึ่งมีรูปทรงสี่เหลี่ยมหรือคล้ายสี่เหลี่ยมที่มีความสูงไม่เกิน 40 เมตร และไม่เกินสามเท่าของความกว้างที่น้อยที่สุดของอาคาร ให้สามารถใช้หน่วยแรงลมตามที่กำหนดในกฎกระทรวงนี้ได้ โดยมีการกำหนดหน่วยแรงลมที่แตกต่างกันระหว่างสภาพภูมิประเทศแบบเมืองหรือชานเมือง กับสภาพภูมิประเทศแบบโล่งหรือชายฝั่งทะเล และให้เพิ่มค่าหน่วยแรงลมขึ้นร้อยละ 15 ในกรณีเป็นอาคารสาธารณะที่มีพื้นที่ 1,000 ตารางเมตรขึ้นไป สำหรับอาคารที่มีรูปทรงหรือความสูงที่ต่างจากนี้ให้ใช้วิธีการคำนวณแรงลมตามที่รัฐมนตรีจะได้ออกประกาศกำหนดในรายละเอียดต่อไป

อีกประเด็นหนึ่งที่น่าสนใจในกฎกระทรวงฉบับนี้คือ การกำหนดเรื่องอัตราการทนไฟของวัสดุที่ใช้เป็นโครงสร้างหลักของอาคาร ซึ่งมีหลักเกณฑ์ที่แตกต่างกันไปตามชั้นของอาคาร ได้แก่ ชั้นที่ 1-4 จากชั้นบนสุดของอาคาร ต้องมีอัตราการทนไฟไม่น้อยกว่า 1 ชั่วโมง (เว้นแต่อาคารบางประเภท ไม่น้อยกว่า 2 ชั่วโมง) ชั้นที่ 5-14 จากชั้นบนสุดของอาคาร ไม่น้อยกว่า 2 ชั่วโมง ชั้นที่ 15 จากชั้นบนสุดลงมา รวมถึงชั้นใต้ดิน ไม่น้อยกว่า 3 ชั่วโมง เฉพาะตงและพื้น ไม่น้อยกว่า 2 ชั่วโมง สำหรับโครงสร้างหลังคา ต้องมีอัตราการทนไฟไม่น้อยกว่า 1 ชั่วโมง (เว้นแต่อาคารบางประเภทขนาดที่ไม่ต้องมีอัตราการทนไฟ ซึ่งรวมถึงโครงสร้างหลังคาของอาคารที่อยู่สูงจากพื้นอาคารเกิน 8 เมตรและอาคารนั้นมีระบบดับเพลิงอัตโนมัติ หรือมีการป้องกันความร้อนหรือระบบระบายความร้อนมิให้เกิดอันตรายต่อโครงหลังคา)

ในส่วนของแรงสั่นสะเทือนแผ่นดินไหวนั้น กำหนดให้การออกแบบและคำนวณเป็นไปตามกฎกระทรวงว่าด้วยการกำหนดการรับน้ำหนัก ความต้านทาน ความคงทนของอาคาร และพื้นดินที่รองรับอาคารในการต้านทานแรงสั่นสะเทือนของแผ่นดินไหว

ทั้งนี้ ข้อกำหนดในหลายส่วนยังจะต้องมีการกำหนดรายละเอียดเพิ่มขึ้น ซึ่งกฎกระทรวงกำหนดว่าให้เป็นไปตามที่รัฐมนตรีโดยคำแนะนำของคณะกรรมการควบคุมอาคารประกาศกำหนด ดังนั้นก็จะต้องมีการออกประกาศกระทรวงมหาดไทยกำหนดรายละเอียด ค่ามาตรฐาน หรือวิธีการออกแบบและคำนวณ ในเรื่องต่างๆต่อไป

ข่าวที่เกี่ยวเนื่อง:
กฎกระทรวงควบคุมอาคารกำหนดฐานรากและพื้นดินที่รองรับอาคาร
กฎกระทรวงควบคุมอาคารกำหนดวัสดุที่ใช้ในการก่อสร้าง

ดาวน์โหลด: cba/mr/mr66-70h.pdf

 

Facebook
Twitter
LinkedIn