แม้ SUBPER จะแนะนำตัวเองว่าพวกเขาทำงานออกแบบขนาดเล็กๆ ทว่าเส้นทางของการเป็นสถาปนิกของพวกเขาไม่เล็กอย่างที่คิดเลยทีเดียว
อีกทั้งยังมีเรื่องราวอันน่าสนใจ (แถมยังสนุกสนาน) มาบอกเล่าให้คนรักงานออกแบบได้ติดตามกัน สำหรับใครที่กำลังค้นหาแรงบันดาลใจในการทำงานออกแบบ ให้เรื่องราวของ SUBPER เป็นแรงบันดาลใจของคุณได้เลย วารสารอาษาครู ฉบับ 11 NEW FACES – สถาปนิกและออฟฟิศสถาปนิกหน้าใหม่ไฟแรง….
ช่วยเล่าถึงการก่อตั้งหรือจุดเริ่มต้นของออฟฟิศ
SUBPER เป็นบริษัทสถาปนิกที่เน้นทำงานออกแบบงานที่มีขนาดเล็กๆ แต่ตั้งใจให้งานมีรูปแบบที่ชัดเจน สะท้อน character ของลูกค้า ตามแนวคิดของ SUBPER ที่มาจากคำว่า “supersub” หมายถึงนักกีฬาหรือผู้เล่นตัวสำรองที่ลงมาแทน แล้วเปลี่ยนให้เกมส์กลับมาชนะได้
ทำไมถึงมาเปิดออฟฟิศที่สงขลา
เริ่มตั้งแต่ตอนเรียนปริญญาตรีแล้วว่าไม่อยากขึ้นกรงุเทพฯ เพราะเราเชื่อว่าถ้าเราตั้งใจจริงแล้ว การอยู่ต่างจังหวัดก็สามารถหาความรู้ได้เท่าๆ กับคนที่เรียนอยู่กรุงเทพฯ จบมาเลยตั้งใจที่จะอยู่หาดใหญ่ เพราะชอบกลับบ้านที่ยะลา ไม่ชอบที่จะต้องเหนื่อยกับการเดินทางในกรุงเทพฯ
ความได้เปรียบเสียเปรียบต่างกันกับออฟฟิศที่เปิดที่กรุงเทพฯ อย่างไร
เรานั่งเครื่องบินไปกรุงเทพฯ ใช้เวลาชั่วโมงครึ่งเร็วกว่าการนั่งรถกลับบ้านช่วงเวลาเลิกงานในกรุงเทพฯ เราถือว่าถ้ามีงานกิจกรรมดีๆ ที่ กรุงเทพฯ เราสามารถไปได้ง่ายและถ้าเราอยากกลับบ้านที่ยะลา เราก็ใช้เวลาชั่วโมงครึ่งเช่นกัน เราชอบบรรยากาศแบบนี้มากกว่า ต่อให้งานที่นี่จะเล็กน้อยกว่ากรุงเทพฯ ก็ตาม
ลักษณะงานที่เน้น/สนใจหรือประเภทอาคารที่มีความเชี่ยวชาญพิเศษ
เราชอบความสมัยระหว่างงานเก่าและงานใหม่ การคลี่คลายงานเก่าให้ออกมาดูทันสมัยเป็นสิ่งที่เราต้องการสื่อสารออกมา ความสนุกอยู่ที่การค้นหาความหมายของรูปแบบหรือสัดส่วนต่างๆ เพื่อพัฒนาต่อให้งานดูน่าสนใจ
จากการทำงานที่ผ่านมา นิยามของสถาปัตยกรรมคืออะไร หรืออะไรคือหัวใจ/คุณค่าของสถาปัตยกรรม
สถาปัตยกรรมที่ดีคืองานที่ผู้ใช้มีความสุขและมีความร่วมสมัยได้อย่างไม่เคอะเขิน คุณค่าของงานสถาปัตยกรรมคือการมีตัวตนได้อย่างสง่าผ่าเผย เข้ากับบริบทของพื้นที่
ในการทำงานที่ผ่านมา มีโครงการไหนหรือเรื่อง อะไรที่ประทับใจที่อยากเล่าให้เราฟังบ้าง
โครงการมัสยิดหลังเล็กๆ ที่ปัตตานีเป็นโครงการที่ประทับใจที่ได้ออกแบบอาคารทางศาสนาที่เรานับถือ ซึ่งถือว่าเราได้ผลบุญในการออกแบบครั้งนี้ และเรื่องการออกแบบเนื่องจากเป็นที่ดินเดิมของทางตระกูลเรา เราเห็นตรงกันว่าจะออกแบบอาคารให้อิงบ้านทรงพื้นถิ่นภาคใต้ตอนล่าง อาคารละหมาดเลยไม่มีโดมตามรูปแบบมัสยิดทั่วไป ช่วงออกแบบจะโดนตำหนิจากคนบางกลุ่มเรื่องมัสยิด เราไม่มีโดมจนถึงขั้นโดนเขวี้ยงโมเดลทิ้ง แต่สุดท้ายก็สร้างตามแบบที่เราออกแบบไว้ จนเมื่อสร้างเสร็จ เริ่มมีคนชื่นชมและแวะเวียนมามัสยิดหลังนี้บ่อยเสียงตำหนิต่างๆ ก็หายไป
ปัจจุบันความเข้าใจต่องานสถาปัตยกรรมและการประกอบวิชาชีพในวงการก่อสร้างช่างพื้นบ้าน ช่างท้องถิ่น และสังคมทั่วไป เป็นอย่างไรบ้าง
ถือว่าเริ่มมีช่างก่อสร้างที่เข้าใจงานออกแบบมากขึ้น แต่ก่อนนี้แทบจะทะเลาะกันทั้งเรื่องสัดส่วน เรื่องดีเทลต่างๆ ที่ช่างเลือกที่จะไม่เชื่อก่อนจะทดลองทำ เพราะด้วยความที่มีวัยวุฒิมากกว่าเรา แต่ถ้าลองทำตามที่เราเสนอจะทำให้สุดท้ายช่างเข้าใจว่าเรากำลังคิดอะไรอยู่และช่างเองก็ได้รับสิ่งใหม่กลับไปเช่นกัน (ก็ไม่ใช่ทุกคนเสมอไปนะครับ)
อยากฝากข้อคิดเห็นหรือข้อเสนอแนะอะไรให้สถาปนิกรุ่นใหม่
การเป็นสถาปนิกนั้นเหมือนการวิ่งมาราธอน ทุกคนเหนื่อยได้แต่ห้ามถอดใจกลางคัน เพราะระยะทางที่จะถึงเส้นชัยมันยาว และสุดท้ายคือเราไม่ได้สู้เพื่อชนะเลิศ แต่เราแค่ต้องการให้ถึงเส้นชัยตามเป้าที่เราวางไว้คือการเป็นสถาปนิกที่ดีให้ได้
Founded in: 2011
Founder: Rachit Radenahmad
Number of staff: 8