ปรับหลักเกณฑ์คะแนนในการเลื่อนระดับ

ปรับหลักเกณฑ์คะแนนในการเลื่อนระดับ

8 ธ.ค. 2565

สภาสถาปนิกออกข้อบังคับสภาสถาปนิก 2 ฉบับที่ผ่านการประชุมใหญ่สามัญ ประจำปี 2564 ประกาศในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 8 ธันวาคม 2565 ได้แก่
(1) ข้อบังคับสภาสถาปนิก ว่าด้วยหลักเกณฑ์ของผู้ประกอบวิชาชีพสถาปัตยกรรมควบคุมแต่ละระดับ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2565
(2) ข้อบังคับสภาสถาปนิก ว่าด้วยคุณสมบัติของผู้ประกอบวิชาชีพสถาปัตยกรรมควบคุมแต่ละระดับ การออกใบอนุญาต การต่อใบอนุญาต อายุใบอนุญาต การออกใบแทนใบอนุญาต และการออกหลักฐานรับรองการได้รับใบอนุญาต (ฉบับที่ 6) พ.ศ. 2565 ข้อบังคับสภาสถาปนิกฉบับนี้มีผลใช้บังคับเมื่อพ้นกำหนด 60 วันนับแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษา คือตั้งแต่วันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2566 เป็นต้นไป

ข้อบังคับสภาสถาปนิกทั้งสองฉบับมีเนื้อหาพอสรุปได้ดังนี้

ข้อบังคับสภาสถาปนิก ว่าด้วยหลักเกณฑ์ของผู้ประกอบวิชาชีพสถาปัตยกรรมควบคุมแต่ละระดับ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2565 เป็นการแก้ไขเพิ่มเติมข้อบังคับสภาสถาปนิก ว่าด้วยหลักเกณฑ์ของผู้ประกอบวิชาชีพสถาปัตยกรรมควบคุมแต่ละระดับ พ.ศ. 2564 ให้รองรับใบอนุญาตระดับภาคีสถาปนิกพิเศษในแต่ละสาขา โดยกำหนดหลักเกณฑ์ให้ประกอบวิชาชีพสถาปัตยกรรมควบคุมได้ตามชนิดงานและลักษณะงานที่ระบุไว้ในใบอนุญาต (สำหรับระดับภาคีสถาปนิกพิเศษนี้ ดูเพิ่มเติมในข่าวที่เกี่ยวเนื่อง 1.)

ข้อบังคับสภาสถาปนิก ว่าด้วยคุณสมบัติของผู้ประกอบวิชาชีพฯ (ฉบับที่ 6) พ.ศ. 2565 เป็นการแก้ไขเพิ่มเติมข้อบังคับสภาสถาปนิก ว่าด้วยคุณสมบัติของผู้ประกอบวิชาชีพฯ พ.ศ. 2552 ต่อเนื่องมาจากข้อบังคับสภาสถาปนิกฯ (ฉบับที่ 5) พ.ศ. 2563 ซึ่งมีการปรับหลักเกณฑ์คะแนนของผลงานที่ใช้ยื่นประกอบการเลื่อนระดับของสาขาสถาปัตยกรรมหลัก (ดูข่าวที่เกี่ยวเนื่อง 3.) โดยครั้งนี้เป็นการปรับในอีก 3 สาขา คือ สาขาสถาปัตยกรรมผังเมือง สาขาภูมิสถาปัตยกรรม และสาขาสถาปัตยกรรมภายในและมัณฑนศิลป์ โดยมีการปรับปรุงในเรื่องต่อไปนี้

(1) ปรับหลักเกณฑ์คะแนนที่อาจได้รับสำหรับผลงานในชนิดงานออกแบบ และงานบริหารและอำนวยการก่อสร้างที่สามารถนำมาใช้ยื่นประกอบการพิจารณาขอรับใบอนุญาตประกอบวิชาชีพสถาปัตยกรรมควบคุม เฉพาะสาขาสถาปัตยกรรมหลัก ระดับสามัญสถาปนิก และระดับวุฒิสถาปนิก
1) งานออกแบบสำหรับสาขาสถาปัตยกรรมผังเมือง สาขาภูมิสถาปัตยกรรม และสาขาสถาปัตยกรรมภายในและมัณฑนศิลป์ จากเดิมผลงานซึ่งงานก่อสร้างแล้วเสร็จผลงานละ 100 คะแนน ปรับเป็น 3 ขั้นคือ ผลงานที่ไม่ซับซ้อน ยังคงได้รับคะแนน 100 คะแนน ผลงานที่ซับซ้อน ปรับเป็น 150 คะแนน และผลงานที่ซับซ้อนมาก 200 คะแนน ส่วนสาขาสถาปัตยกรรมหลักได้ปรับปรุงไปแล้วก่อนหน้า
2) ส่วนงานออกแบบที่เป็นผลงานซึ่งไม่ได้ก่อสร้างและมีเอกสารผลงานแบบก่อสร้างขั้นสมบูรณ์ หรือผลงานซึ่งงานก่อสร้างยังไม่แล้วเสร็จ (สำหรับสาขาสถาปัตยกรรมหลักและสาขาสถาปัตยกรรมภายในและมัณฑนศิลป์) หรือผลงานออกแบบวางผังซึ่งไม่ใช่ผลงานซึ่งมีสถานะแล้วเสร็จและมีเอกสารผลงานออกแบบวางผังขั้นสมบูรณ์ (สำหรับสาขาสถาปัตยกรรมผังเมืองและสาขาภูมิสถาปัตยกรรม) ให้ได้รับคะแนนกึ่งหนึ่งของคะแนนปกติ คือจากเดิมผลงานละ 50 คะแนน ก็ปรับเป็นตามประเภทอาคาร 50, 75 และ 100 คะแนน ตามลำดับ
3) งานบริหารและอำนวยการก่อสร้างสำหรับสาขาสถาปัตยกรรมผังเมือง สาขาภูมิสถาปัตยกรรม และสาขาสถาปัตยกรรมภายในและมัณฑนศิลป์ จากเดิม 50 คะแนนต่อผลงาน ปรับเป็นตามความซับซ้อนของงานเช่นเดียวกับงานออกแบบ โดยอาจได้รับ 50, 150 และ 200 คะแนน ตามลำดับ ส่วนสาขาสถาปัตยกรรมหลักได้ปรับปรุงไปแล้วก่อนหน้า (ดูข่าวที่เกี่ยวเนื่อง 3.)

(2) ในการพิจารณาว่าผลงานใดเป็น “ผลงานที่ไม่ซับซ้อน” “ผลงานที่ซับซ้อน” หรือ “ผลงานที่ซับซ้อนมาก” ให้อยู่ในดุลยพินิจของคณะกรรมการสภาสถาปนิก โดยในข้อบังคับฯได้กำหนดบทนิยามของคำทั้งสามเอาไว้ นอกจากนั้นยังได้กำหนดบทนิยามของคำว่า “ผลงานออกแบบวางผัง” และคำว่า “สถานะแล้วเสร็จ” ซึ่งใช้สำหรับผลงานออกแบบใสาขาสถาปัตยกรรมผังเมืองหรือสาขาภูมิสถาปัตยกรรม

(3) ปรับคะแนนผลงานรวมระดับวุฒิสถาปนิก จากเดิม 700 คะแนน เป็น 1,000 คะแนน (ทุกสาขา)

(4) กำหนดสัดส่วนของผลงานออกแบบต้องมีคะแนนรวมกันไม่น้อยกว่าหนึ่งส่วนในสามส่วนของคะแนนที่ต้องใช้ในการเลื่อนระดับ ซึ่งยังคงเดิม แต่ได้เพิ่มข้อยกเว้นกรณีการขอรับใบอนุญาตระดับสามัญสถาปนิกในชนิดงานบริหารและอำนวยการก่อสร้าง (ดูข่าวที่เกี่ยวเนื่อง 2.) ต้องมีสัดส่วนของผลงานในชนิดงานบริหารและอำนวยการก่อสร้างรวมกันไม่น้อยกว่าสองในสามส่วนของคะแนนที่ต้องใช้

ข่าวที่เกี่ยวเนื่อง:
1. สภาสถาปนิกออกระเบียบใบอนุญาตระดับภาคีสถาปนิกพิเศษ
2. หลักเกณฑ์ของผู้ประกอบวิชาชีพแต่ละระดับ ฯลฯ
3. ปรับหลักเกณฑ์คะแนนในการเลื่อนระดับสถ.หลัก ฯลฯ

ดาวน์โหลด:
aa\cr65(02).pdf
aa\cr65(06)-02.pdf

Facebook
Twitter
LinkedIn